สมบัติ (บาลีวันละคำ 716)
สมบัติ
อ่านว่า สม-บัด
บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” อ่านว่า สำ-ปัด-ติ
“สมฺปตฺติ” แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” คือความสำเร็จ “ภาวะที่ถึงพร้อม”
ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ”
ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน”
จะเห็นได้ว่า ในภาษาไทยเป็นที่เข้าใจกันว่า “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้
แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ดังนี้ –
(1) success, attainment; happiness, bliss, fortune (ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ)
(2) excellency, magnificence (ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม)
(3) honour (เกียรติ)
(4) prosperity, splendor (ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม)
จะเห็นได้ว่า ความหมายที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด
คำในชุด “สมบัติ” ที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมากก็คือ
มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ
เขียนสะกดอย่างนี้ แต่นิยมพูดกันว่า มะ-นุด-สม-บัด, สะ-หฺวัน-สม-บัด, นิบ-พาน-สม-บัด
คำชุดนี้ ในคัมภีร์ใช้ว่า
– มนุสฺสสมฺปตฺติ (มะ-นุด-สะ-สำ-ปัด-ติ)
– ทิพฺพสมฺปตฺติ (ทิบ-พะ-สำ-ปัด-ติ, บางทีใช้ว่า เทวสมฺปตฺติ)
– นิพฺพานสมฺปตฺติ (นิบ-พา-นะ-สำ-ปัด-ติ)
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็คือ –
(1) มนุษยสมบัติ เข้าใจไปว่า เกิดมาแล้วร่ำรวย มีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้อุดมสมบูรณ์ เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี
(2) สวรรคสมบัติ เข้าใจไปว่า ได้ไปเกิดในสวรรคแล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้เหมือนในโลกมนุษย์ แต่เป็นของทิพย์ของวิเศษ
(3) พอมาถึง นิพพานสมบัติ จะว่าอย่างไร ?
ก็ต้องเข้าใจว่า สำเร็จนิพพานแล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้อุดมสมบูรณ์ จึงจะเข้าชุดกัน มิเช่นนั้นก็จะลักลั่น
เข้าใจอย่างนี้ก็ไปสอดรับกับลัทธิที่สอนว่า นิพพานเป็นโลกทิพย์ที่มีรออยู่แล้ว (บอกขนาดกว้างยาวไว้เสร็จ) บรรลุนิพพานแล้วก็ได้ไปเสวยสุขเป็นอมตะชั่วนิรันดร อันเป็น “นิรวาณ” หรือ “ปรมาตมัน” ในลัทธิพราหมณ์นั่นเอง เป็นอันดึงเอานิพพานของพระพุทธเจ้าเข้าไปซุกอยู่ใต้ปีกของพราหมณ์โดยสมบูรณ์
ความหมายที่ถูกต้องของ “สมฺปตฺติ–สมบัติ” เมื่ออยู่ในชุด 3 คำนี้ ก็คือ
(1) มนุษยสมบัติ หมายถึง “การได้เกิดเป็นมนุษย์” จะมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หรือแม้แต่เป็นขอทาน ก็คือได้ “มนุษยสมบัติ” ทั้งนั้น
(2) สวรรคสมบัติ หมายถึง “การได้เกิดในสวรรค์” จะเป็นสวรรค์ชั้นไหน มีของทิพย์ชนิดไหน เป็นไปตามฐานะของสวรรค์ชั้นนั้นๆ ประกอบกับความประณีตของบุญกรรมที่ทำมา
(3) นิพพานสมบัติ หมายถึง “การได้บรรลุนิพพาน” นิพพานไม่ใช่ภพภูมิที่ให้ผู้บรรลุไปสิงสถิตเป็นอมตะ ณ ที่ใดๆ แต่นิพพานคือการดับรอบสิ้นเชื้อ ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป (แม้ไปเกิดใน “นิพพานภูมิ” ตามลัทธิที่สอนเช่นนั้น ก็ยังต้องตายอยู่นั่นเอง เพราะไม่มีอะไรที่มีเกิดแล้วจะไม่มีตาย)
: ปรารถนาสมบัติ
: เข้าใจให้ชัดว่า “สมบัติ” คืออะไร
#บาลีวันละคำ (716)
3-5-57