บาลีวันละคำ

ทรมาน (บาลีวันละคำ 717)

ทรมาน

(บาลีกลาย)

อ่านว่า ทอ-ระ-มาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทรมาน : (คำกริยา) ทําให้ลําบาก, ทําทารุณ เช่น ทรมานตัว ทรมานสัตว์, ทําให้ละพยศหรือลดทิฐิมานะลง. (คำนาม) ชื่อปางพระพุทธรูปที่ขึ้นต้นด้วยคํานี้ เช่นว่า ปางทรมานช้างนาฬาคิรี ปางทรมานพญานาค. (ป., ส. ทมน)”

คำในวงเล็บที่ว่า “ป., ส. ทมน” หมายความว่า คำว่า “ทรมาน” นี้ บาลีสันสกฤตเป็น “ทมน” (ทะ-มะ-นะ)

ทมน” รากศัพท์มาจาก ทมุ (ธาตุ = ฝึก, อบรม, ข่ม. เป็น ทมฺ ธาตุก็ได้ ความหมายเช่นเดียวกัน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบสระที่สุดธาตุ

: ทมุ > ทม + ยุ > อน : ทม + อน = ทมน แปลว่า การฝึก, การอบรม, การฝึกให้เชื่อง, การข่ม; การควบคุมตนเอง, การบังคับตนเอง, ความรู้จักประมาณ, การเอาชนะ (taming, subduing; self-control, self-command, moderation, mastery)

โปรดสังเกตคำอังกฤษ taming คำกริยาและคุณศัพท์เป็น tame รูปเดียวกับ “ทม

ทมน” มาเป็น “ทรมาน” ได้อย่างไร ?

(1) ทมน อ่านแบบไทยว่า ทะ-มน อ่านแบบอิงศัพท์เดิมว่า ทะ-มัน

(2) – ที่มาจากบาลีสันสกฤต เราถนัดที่จะแผลงเป็น ทร– : ทมน > ทรมน อ่านว่า ทะ-ระ-มัน

(3) จากเสียง –มัน ยืดเป็น –มาน : ทรมัน > ทรมาน

สรุป : ทมน > ทรมน > ทรมาน

แต่นี่เป็นการอธิบายแบบ “หวยออกแล้วจึงบอกฝัน

ถ้า พจน.ไม่บอกไว้ว่า “ป., ส. ทมน” ก็อาจอธิบายเป็นคำอื่นไปก็ได้ หรืออาจเดาไม่ถูกว่า “ทรมาน” มาจากคำในภาษาอะไร

ในภาษาไทย คำว่า “ทรมาน” ยังเข้าใจกันในความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกระทมทุกข์

เรื่องแปลกแต่จริง :

(1) คำว่า “ทรมาน” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 และฉบับ พ.ศ.2554 ดังที่นำมาอ้างข้างต้น

(2) ที่เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานมีบริการค้นคำจากพจนานุกรม ซึ่งขณะนี้ยังใช้ข้อมูลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อยู่

(3) เมื่อพิมพ์คำว่า “ทรมาน” ลงในช่อง “พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา” แล้วคลิกที่ปุ่ม “ส่งคำค้นหา” จะมีผลขึ้นมาบนจอว่า

————

คำ ทรมาน ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่

คำ ทรมาน ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่

————

: จะทรมานใคร อย่าลืมทรมานใจตัวเองก่อน

#บาลีวันละคำ (717)

4-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *