บาลีวันละคำ

สัตยาธิษฐาน (บาลีวันละคำ 719)

สัตยาธิษฐาน

อ่านอย่างไร

สัตยาธิษฐาน” ประกอบด้วย สัตย + อธิษฐาน

สัตย” บาลีเป็น “สจฺจ” อ่านว่า สัด-จะ

อธิษฐาน” บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” อ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ

ความหมายในบาลี :

สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration), เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true), เป็นคำขยายกริยา แปลว่า โดยจริง, จริง ๆ, อย่างแน่นอนหรือแน่แท้ (truly, verily, certainly)

อธิฏฺฐาน” เป็นคำนาม แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ, ความตกลงใจ (decision, resolution, self-determination, will)

ตามความหมายเดิมคือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน

สจฺจ + อธิฏฺฐาน = สจฺจาธิฏฺฐาน แปลตามสำนวนคัมภีร์ว่า (1) “ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจคือสัจจะ” (2) “มีสัจจะเป็นธรรมที่ตั้งไว้ในใจ

ในทางปฏิบัติหมายถึง การตั้งใจมั่นด้วยสัจจะ, การตั้งใจเด็ดเดี่ยวโดยอ้างความจริง, การยกเอาความจริงขึ้นเป็นที่อ้างแล้วตั้งความปรารถนา, การตั้งมั่นอยู่ในสัจจะ

ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 :

(1) สัตย, สัตย์ : [สัด-ตะ-ยะ, สัด] (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ. (คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง.

(2) อธิษฐาน : [อะ-ทิด-ถาน, อะ-ทิด-สะ-ถาน] (คำกริยา) ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า.

(3) สัตยาธิษฐาน : (คำนาม) การตั้งความจริงใจเป็นหลักอ้าง เช่น ขอตั้งสัตยาธิษฐานอ้างอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก.

หมายเหตุ : คำว่า สัตยาธิษฐาน พจน.54 ไม่บอกคำอ่านกำกับไว้ คงเป็นเพราะได้บอกคำอ่านของ สัตย และ อธิษฐาน ไว้ที่คำนั้นๆ แล้ว

คำเทียบ :

คำที่ลงท้ายด้วย –ษฐาน พจน.54 บอกคำอ่านไว้ดังนี้ –

(1) ธรรมาธิษฐาน อ่านว่า ทํา-มา-ทิด-ถาน ก็ได้ ทำ-มา-ทิด-สะ-ถาน ก็ได้

(2) บุคลาธิษฐาน อ่านว่า บุก-คะ-ลา-ทิด-ถาน ก็ได้ บุก-คะ-ลา-ทิด-สะ-ถาน ก็ได้

(3) ประดิษฐาน อ่านว่า ปฺระ-ดิด-สะ-ถาน (ไม่อ่านว่า ปฺระ-ดิด-ถาน)

(4) พิษฐาน อ่านว่า พิด-สะ-ถาน (ไม่อ่านว่า พิด-ถาน)

(5) สันนิษฐาน อ่านว่า สัน-นิด-ถาน (ไม่อ่านว่า สัน-นิด-สะ-ถาน)

ข้อสังเกต :

(1) จะเห็นได้ว่า มีเฉพาะ “สันนิษฐาน” เท่านั้น ที่ไม่อ่านว่า –สะ-ถาน

(2) “อธิฏฺฐาน” ในบาลีอ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ ไม่อ่านว่า อะ-ทิด-ตะ-ถา-นะ หรือ อะ-ทิด-ถะ-ถา-นะ แต่เมื่อเขียนตามรูปสันสกฤต ฏฺฐ กลายเป็น ษฐ การออกเสียงจึงต่างออกไป

(3) อย่างไรก็ตาม คำว่า อธิษฐาน ควรอ่านว่า อะ-ทิด-ถาน เท่านั้นหรือไม่ และอ่านว่า อะ-ทิด-สะ-ถาน ผิดหรือไม่ ย่อมควรแก่การวิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไป

สรุป :

ตาม พจน.54 คำว่า “สัตยาธิษฐาน

– อ่านว่า สัด-ตะ-ยา-ทิด-ถาน ก็ได้

– อ่านว่า สัด-ตะ-ยา-ทิด-สะ-ถาน ก็ได้

ความหมายของคำ ดูเพิ่มเติมที่ :

(1) อธิษฐาน บาลีวันละคำ (379) 28-5-56

(2) สัจอธิษฐาน บาลีวันละคำ (437) 26-7-56

(3) สัตยาเคราะห์ บาลีวันละคำ (619) 25-1-57

(4) สัตยาบัน บาลีวันละคำ (635) 10-2-57

ข้อคิด :

ในความหมายเดิม “อธิษฐาน” เป็นการตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน แต่ความหมายในภาษาไทยกลายเป็นอธิษฐานโดยตั้งใจขอต่อสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะได้ หรือจะเอา หรือจะให้สำเร็จด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ

จะขึ้นสู่ความสำเร็จ –

: ใช้สัตยาธิษฐานเป็นบันได

: แต่อย่ารอให้ใครมาบันดาล

—————-

(ตามคำขอของ Tanakarn Sarakam)

#บาลีวันละคำ (719)

6-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *