บาลีวันละคำ

เปรียญ (บาลีวันละคำ 725)

เปรียญ

อ่านว่า ปะ-เรียน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เปรียญ : (คำนาม) ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป”

มีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า “เปรียญ” น่าจะมีที่มาจาก 2 ทาง คือ –

(1) กลายรูปและเสียงมาจากคำว่า “ปริญญา

คือ อิ ที่ –ริ– เป็น เอีย เทียบกับคำว่า “วชิรอิ ที่ –ชิ– เป็น เอีย = วเชียร > วิเชียร

: ปริญญา > ปเรียญญา แล้วกร่อนเหลือเพียง ปเรียญ > เปรียญ

ปริญญา” บาลีเขียน “ปริญฺญา” (มีจุดใต้ เป็นตัวสะกด) แปลว่า ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความเข้าใจ, ความรู้รอบ (knowing, recognising, understanding)

(2) เลือนมาจากคำว่า “บาเรียน

: บาเรียน > บเรียน > ปเรียน > เปรียน > เปรียญ

พจน.54 บอกไว้ว่า –

(1) บา : (คำนาม) ครู, อาจารย์; ชายหนุ่ม

(2) บาเรียน : (คำนาม) ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “เปรียญ” :

(1) เปรียญ กำหนดชั้นไว้ 9 ประโยค แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

เปรียญตรี สอบได้ประโยค 3

เปรียญโท สอบได้ประโยค 4, 5, 6

เปรียญเอก สอบได้ประโยค 7, 8, 9

(2) เฉพาะเปรียญเอกยังแยกย่อยเป็น 3 ระดับ คือ

– ประโยค 7 เรียก “เอก ส.” มาจากคำว่า “เอกสามัญ”

– ประโยค 8 เรียก “เอก ม.” มาจากคำว่า “เอกมัชฌิมะ” หรือ “เอกมัธยม”

– ประโยค 9 เรียก “เอก อุ.” มาจากคำว่า “เอกอุดม” (คำว่า “เอกอุ” มีที่มาจากคำเรียกเปรียญเอกนี้)

(3) พระภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญ 6 และเปรียญ 9 ได้ จะได้เข้ารับพระราชทานพัดยศ กำหนดก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชกุศลตั้งเปรียญ

(ปี 2557 ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม คือวันนี้)

(4) เฉพาะสามเณรที่สอบเปรียญ 9 ได้ จะทรงรับการอุปสมบทไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ที่เรียกว่า “นาคหลวง” (การนี้อาจสื่อสารกับชาวบ้านทั่วไปด้วยคำธรรมดาว่า “สามเณรประโยค 9 ในหลวงเป็นเจ้าภาพบวชให้”)

คติของเปรียญ :

: บวชอยู่ก็เป็นศรีแก่พระศาสนา

: สึกออกมาก็เป็นศรีแก่สังคม

#บาลีวันละคำ (725)

12-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *