เวียนเทียน (บาลีวันละคำ 726)
เวียนเทียน
บาลีว่าอย่างไร
คำว่า “เวียนเทียน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายว่า –
(1) อาการที่ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินประทักษิณสิ่งที่เคารพบูชา เช่น เวียนเทียนรอบพระอุโบสถในวันวิสาขบูชา, เดินเทียน ก็ว่า
(2) ยกแว่นที่จุดเทียนติดไว้ วักเข้าหาตัว ๓ ครั้ง แล้วโบกควันออก และส่งต่อให้คนอื่นเวียนไปโดยรอบสิ่งที่ทําขวัญ
(3) โดยปริยายหมายความว่า ทําแล้วกลับมาทําอีก เช่น เด็กเวียนเทียนรับของบริจาค
“เวียนเทียน” ในที่นี้หมายเฉพาะความหมายตามนัย (1) บาลีใช้คำว่า “ปทกฺขิณ” (ปะ-ทัก-ขิ-นะ) ประกอบด้วย ป + ทกฺขิณ = ปทกฺขิณ
“ป” คำอุปสรรค แปลว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก และอาจใช้แทนความหมายของศัพท์อื่นๆ ได้อีก
“ทกฺขิณ” แปลว่า ขวา (ตรงข้ามกับซ้าย), ทิศใต้ (คือทิศทางขวามือเมื่อหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ยามเช้า)
เนื่องจากมนุษย์มักถนัดมือขวา คำว่า “ทักขิณ” หรือ “มือขวา” จึงมีความหมายโดยนัยว่า ถนัด, เชี่ยวชาญ, สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
ป + ทกฺขิณ = ปทกฺขิณ แปลตามศัพท์ว่า “ไปทางขวา” (to the right) “เด่นทางขวา” (prominent with the right) มีความหมายว่า –
1. เวียนไปทางขวา, วนขวา, วิธีแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง
2. ชำนาญ, ฉลาด, เรียนเร็ว
3. มีโชคดี, มีฤกษ์งามยามดี, กลายเป็นดีหรือได้ประโยชน์
ปทกฺขิณ ภาษาไทยใช้ว่า “ประทักษิณ” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ประทักษิณ : (คำนาม) การเวียนขวา โดยให้สิ่งที่เรานับถือหรือผู้ที่เรานับถือเป็นต้นอยู่ทางขวาของผู้เวียน”
ชาวชมพูทวีป เวลาไปหาบุคคลสำคัญ หรือไปสู่สถานที่สำคัญ เมื่อจะกลับก็ทำ “ประทักษิณ” คือเดินเวียนรอบบุคคลหรือสถานที่นั้น 3 รอบ โดยหันด้านขวาของตนเข้าหาบุคคลหรือสถานที่นั้น เป็นการแสดงความเคารพหรือประกาศว่าบุคคลหรือสถานที่นั้นมีความสำคัญสำหรับตน
ชาวพุทธเอาวัฒนธรรมนี้มาใช้แสดงความเคารพปูชนียสถาน และเนื่องจากเมื่อเดินเวียนตอนกลางคืนต้องจุดเทียนถือไปด้วย จึงเรียกกิริยาแสดงความเคารพเช่นนั้นว่า “เวียนเทียน”
: เอาของเล่นไปทำเป็นดีได้
: แต่อย่าเอาของดีมาทำเป็นเล่น
#บาลีวันละคำ (726)
13-5-57