รัฐบุคคล (บาลีวันละคำ 727)
รัฐบุคคล
(บาลีไทย)
อ่านว่า รัด-ถะ-บุก-คน
ประกอบด้วยคำว่า รัฐ + บุคคล
“รัฐ” บาลีเขียน “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
“บุคคล” บาลีเป็น “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก” (2) “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า” (3) “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ (4) “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย
“ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง (1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man) (2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)
: รฏฺฐ + ปุคฺคล = รฏฺฐปุคฺคล > รัฐ + บุคคล = รัฐบุคคล แปลตามศัพท์ว่า “บุคคลผู้ทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง”
ในคัมภีร์ไม่มีศัพท์ที่ใช้รวมกันเช่นนี้
คำว่า “รัฐบุคคล” มีที่มาจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง ริเริ่มโดยกลุ่มอดีตข้าราชการทหาร รวมตัวกันในนามผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใดๆ (Non-partisan politics) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แสวงหาอำนาจในทางการเมือง แต่เป็นบุคคลที่ตั้งใจทำงานเพื่อรัฐ ซึ่งตรงกับความหมายของคำอังกฤษว่า Statesman แต่คำว่า Statesman ภาษาไทยใช้ว่า “รัฐบุรุษ” และมีการประกาศนามเรียกท่านผู้อื่นอยู่แล้ว คณะบุคคลกลุ่มนี้จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า “รัฐบุคคล” มีคำอังกฤษกำกับว่า Man of The State
: ไม่ต้องมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้
——————–
(ตามคำเสนอของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
#บาลีวันละคำ (727)
14-5-57