บาลีวันละคำ

ประทาน-ประสาท-ประสาธน์ (บาลีวันละคำ 730)

ประทาน-ประสาท-ประสาธน์

ประทานปริญญา

ประสาทปริญญา

ประสาธน์ปริญญา

ใช้คำไหนดี ?

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ประทาน : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ให้ (ใช้แก่เจ้านาย). (ส.).

(2) ประสาท ๑, ประสาท– ๑ : [ปฺระสาด, ปฺระสาทะ-] (คำนาม) ส่วนของร่างกาย มีลักษณะคล้ายเส้นใย มีหน้าที่นําคําสั่งและความรู้สึกไปสู่หรือออกจากสมองหรืออวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย, โดยปริยายหมายความว่า จิตใจ, ความรู้สึก. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

(3) ประสาท ๒, ประสาท– ๒ : [ปฺระสาด, ปฺระสาทะ-] (คำนาม) ความเลื่อมใส. (ส.; ป. ปสาท).

(4) ประสาท ๓ : [ปฺระสาด] (คำนาม) ยินดีให้, โปรดให้, เช่น ประสาทปริญญา ประสาทพร. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

(5) ประสาธน์ : [ปฺระสาด] (คำแบบ) (คำกริยา) ทําให้สําเร็จ.(คำนาม) เครื่องประดับ. (ส. ปฺรสาธน; ป. ปสาธน).

ในบาลีสันสกฤต คำทั้ง 3 มีความหมายดังนี้ –

(1) ประทาน บาลีเป็น “ปทาน” (ปะ-ทา-นะ) แปลว่า การให้, การมอบให้ (giving, bestowing), บางกรณีหมายถึง การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)

สันสกฤตเป็น “ปฺรทาน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรทาน : (คำนาม) ประทาน, ทาน, ของให้, การให้; a gift or donation, giving.

(2) ประสาท บาลีเป็น “ปสาท” (ปะ-สา-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทำให้ยินดีโดยพิเศษ” “ภาวะเป็นเครื่องผ่องใสแห่งนัยน์ตา” หมายถึง –

(ก) ความชัด, ความแจ่มใส, ความบริสุทธิ์ (clearness, brightness, purity)

(ข) อวัยวะที่มีความรู้สึกหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึก (sentient organ, sense agency, sensitive surface)

(ค) ความดีใจ, ความพอใจ, ความสุขหรือความครึ้มใจ, ความดี, ศรัทธา (joy, satisfaction, happy or good mind, virtue, faith)

(ง) การพักผ่อน, ความสำรวมใจ, ความสงบเยือกเย็น, ความราบรื่นไม่หวันไหว (repose, composure, allayment, serenity)

สันสกฤตเป็น “ปฺรสาท” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรสาท : (คำนาม) ประสาท, ความแจ่มใสหรือเข้าใจง่าย, ความสะอาด, ความสุกใส; ความอนุเคราะห์, ความกรุณา; ความสุข, ความอยู่เย็นเป็นสุข clearness, cleanliness, brightness; favour, kindness; well-being, welfare.

(3) ประสาธน์ บาลีเป็น “ปสาธน” (ปะ-สา-ทะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทำสำเร็จ” หมายถึง เครื่องประดับ, เครื่องตกแต่ง, การตบแต่ง (ornament, decoration, parure)

สันสกฤตเป็น “ปฺรสาธน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรสาธน : (คำนาม) ประสาธน์, เวศ, พัสตร์; อาภรณ์, ภูษณ์; การทำลุล่วง dress, decoration, embellishment; accomplishing or effecting.

ข้อพิจารณา :

(1) ปทาน-ปฺรทาน = การให้ ในบาลีสันสกฤต ไม่ได้เจาะจงว่าใครเป็นผู้ให้ แต่ในภาษาไทยกำหนดว่า “ประทาน” เป็นราชาศัพท์ ผู้ให้ต้องเป็นเจ้านาย (หมายถึงผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ หรือผู้ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านาย) ถ้าผู้ให้เป็นคนสามัญ ใช้คำว่า “ประทาน” ไม่ได้

(2) ปสาท-ปฺรสาท ในบาลีสันสกฤต ไม่ได้มีความหมายว่า “ให้” “ประสาท” ที่ใช้ในความหมายว่า “ให้” เป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทย คือใช้รูปคำเหมือนบาลีสันสกฤต แต่กำหมดความหมายขึ้นใหม่ตามความนิยมของไทย

(3) ปสาธน-ปฺรสาธน ในบาลีสันสกฤต หมายถึง เครื่องประดับ แต่เฉพาะในสันสกฤตมีความหมายต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำลุล่วง (accomplishing or effecting) ในบาลีความหมายเช่นนี้ รูปศัพท์ต้องเป็น “สาธน” (สา-ทะ-นะ) ไม่ใช่  “ปสาธน

สาธน” รูปกริยาเป็น “สาเธติ” แปลว่า ทำให้สำเร็จ, คืบหน้า, ทำให้รุ่งเรือง, ทำให้ชัดเจน, นำไปสู่การจบเสร็จ

อย่างไรก็ตาม อาจอธิบายช่วยว่า “ปสาธน” ก็คือ “สาธน” นั่นแหละ แต่เติม – เข้าข้างหน้า เป็นคนละคำกับ “ปสาธน” ที่หมายถึงเครื่องประดับ ทำนองเดียวกับคำพ้องรูปในภาษาไทย

ในภาษาไทย เคยมีคำเรียกนายปรีดี พนมยงค์ ว่า “ผู้ประสาธน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”

ประสาธน์การ” ในที่นี้ (ตามหลักภาษาควรสะกดเป็น “ปสาธนการ” (ไม่มีการันต์ที่ ) แต่เนื่องจากคงต้องการอ่านว่า ปฺระ-สาด-กาน จึงการันต์ที่ ให้ชัดเจนลงไป) หมายถึง ผู้ริเริ่มก่อตั้ง หรือแปลตามความหมายแบบบาลีไทยว่า ผู้ทำให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ตามนัยนี้ “ประสาธน์ปริญญา” ต้องแปลว่า “ทำให้ปริญญาสำเร็จ” หมายถึงตัวผู้ศึกษาเป็นผู้ทำให้ตนเองสำเร็จการศึกษาจนได้รับปริญญา มิได้หมายถึงมีใครมามอบปริญญาให้ (จะมีพิธีมอบหรือไม่มี จะเข้าพิธีรับหรือไม่เข้า ปริญญาก็สำเร็จอยู่แล้วเมื่อศึกษาได้ครบตามเกณฑ์)

(4) พิธีมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของทางราชการไทย นิยมให้ “เจ้านาย” เป็นผู้มอบ ดังมีคำเรียกว่า “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

มีข้อชวนคิดว่า พิธีมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันมีสถานภาพเป็น “สถาบันอุดมศึกษาของทางราชการ” ควรใช้คำว่าอะไร ?

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

พิธีประทานปริญญาบัตร

พิธีประสาทปริญญาบัตร

พิธีประสาธน์ปริญญาบัตร

: ปริญญาบัตรเป็นเครื่องรับรองว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร

: แต่ไม่ใช่เครื่องรับรองว่าเป็นผู้มีการศึกษา

—————-

(รับฝากมาจากจากท่านอาจารย์ Dhrinyadecha Libha)

#บาลีวันละคำ (730)

17-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *