นายกรัฐมนตรี (บาลีวันละคำ 731)
นายกรัฐมนตรี
(บาลีไทย)
อ่านว่า นา-ยก-รัด-ถะ-มน-ตฺรี
ประกอบด้วย นายก + รัฐ + มนตรี
(๑) “นายก” บาลีอ่านว่า นา-ยะ-กะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ (ปัจจัย = ผู้-) แปลง อี (ที่ นี) เป็น เอ แปลง เอ เป็น อาย (อา-ยะ), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: นี > เน > นาย + ณฺวุ > อก : นาย + อก = นายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำ”
คำว่า “นายก” ความหมายทั่วไปคือ ผู้นํา, ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้นำทาง, ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ (ฝรั่งแปลว่า a leader, guide, lord)
ในบาลี ถ้าเป็นคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายเฉพาะว่า “ผู้นำสัตวโลกออกจากห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปสู่ฝั่งพระนิพพาน”
หากประยุกต์ใช้กับผู้นำสังคม “นายก” ก็ควรมีความหมายว่า “ผู้นำปวงชนในความรับผิดชอบออกจากความเดือดร้อนไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข”
(๒) “รัฐ” บาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย แปลง ฐต เป็น ฏฐ
: รฐ + ต : –ฐต > ฏฺฐ : ร + ฏฺฐ = รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย ลบสระที่สุดธาตุ แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต : –ชต > ฏฺฐ : ร + ฏฺฐ = รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” หมายถึง ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า reign, kingdom, empire; country, realm)
“รฏฺฐ” ในภาษาไทย ถ้าอ่านว่า “รัด” หรือ “รัด-ถะ” และไม่ได้สนธิ คือเชื่อมเสียง -ถะ เข้ากับสระพยางค์แรกของคำที่มาต่อ ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ”
(๓) “มนตรี” บาลีเป็น “มนฺตี” (มัน-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้แบกรับกิจที่พึงกระทำ” “คนมีความคิด” ใช้ในความหมายว่า ที่ปรึกษา, อำมาตย์, เสนาบดี (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า counselor, minister)
รัฐ + มนตรี รวมกันเป็น “รัฐมนตรี” คำหนึ่งก่อน แปลว่า “ผู้แบกรับกิจที่พึงกระทำของบ้านเมือง”
นายก + รัฐมนตรี = นายกรัฐมนตรี เป็นคำประสมแบบไทย ถ้าสมาสตามหลักบาลี รูปคำจะต้องเป็น รฏฺฐมนฺตินายก (รัด-ถะ-มัน-ติ-นา-ยะ-กะ) แปลว่า “หัวหน้าผู้แบกรับกิจที่พึงกระทำของบ้านเมือง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นายกรัฐมนตรี : ตําแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรี”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า –
นายกรัฐมนตรี : n. the prime minister
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล prime minister เป็นบาลีว่า –
(1) มหามจฺจ (มะ-หา-มัด-จะ) < มหา + อมจฺจ (อะ-มัด-จะ) แปลว่า อำมาตย์ผู้ใหญ่, มหาอำมาตย์
(2) ราชมหามตฺต (รา-ชะ-มะ-หา-มัด-ตะ) < ราช + มหา + อมตฺต (อะ-มัด-ตะ) แปลว่า อำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระราชา, มหาอำมาตย์ของพระราชา
: เมื่อนำ อย่าลังเล
: เมื่อตาม อย่ารวนเร
#บาลีวันละคำ (731)
18-5-57