อินทรีย์ (บาลีวันละคำ 753)
อินทรีย์
ภาษาไทยอ่านว่า อิน-ซี
บาลีเป็น “อินฺทฺริย” อ่านว่า อิน-ทฺริ-ยะ
“อินฺทฺริย” รากศัพท์ประกอบด้วย อินฺท + ร อาคม + อิย ปัจจัย
“อินฺท” รากศัพท์มาจาก อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + นิคหิตอาคม + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น น, ลบสระที่สุดธาตุ
: อิทิ > อึทิ (อิง-ทิ) > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลว่า “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง พระอินทร์, ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา, ผู้ปกครอง
: อินฺท + ร = อินฺทร + อิย = อินฺทริย > อินฺทฺริย (มีจุดใต้ ทฺ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เป็นของพระอินทร์” (belonging to Indra) (2) “เป็นของผู้ปกครอง” (belonging to the ruler)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไขความคำว่า “อินฺทฺริย” (ตามความเข้าใจของฝรั่ง) ไว้ดังนี้ –
(1) faculty, function (สมรรถพล = กำลังแห่งความสามารถ, การทำงาน)
(2) kind, characteristic, determinating principle, sign, mark (ชนิด, ลักษณะ, หลักที่เป็นตัวกำหนด, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย)
(3) principle, controlling force (หลักการ, กำลังที่ควบคุม)
(4) category (ประเภท)
อินฺทฺริย ภาษาไทยใช้ว่า “อินทรีย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ร่างกายและจิตใจ เช่น สํารวมอินทรีย์
(2) สติปัญญา เช่น อินทรีย์แก่กล้า
(3) สิ่งมีชีวิต
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายทางธรรมของ “อินทรีย์”ไว้ว่า –
อินทรีย์ : ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน วิริยะเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความเกียจคร้าน เป็นต้น
คำถาม :
“อินฺทฺริย” ในบาลีอ่านอย่างไร เช่น อินฺทฺริยํ บางสำนักออกเสียงว่า อิน-ซิ-ยัง บางสำนักออกเสียงว่า อิน-ทะ-ริ-ยัง
ข้อพิจารณา :
(1) อิน– กับ –ย ไม่มีปัญหา ตัดออกไปก่อน ปัญหาอยู่ที่ –ทฺริ–
(2) ในบาลี มีจุดใต้ ทฺ หมายความว่า ทฺ ออกเสียงครึ่งเสียง ไม่ใช่ ทะ-ริ
(3) ลองนึกถึงการออกเสียงคำที่อาจใช้เป็นแนวเทียบช่วยให้เข้าใจได้ง่าย เช่น
– ตรี ไม่ใช่ ตี และไม่ใช่ ตะ-รี
– ดรีม (dream) ไม่ใช่ ดีม และไม่ใช่ ดะ-รีม
– ธรี (three) ไม่ใช่ ที และไม่ใช่ ทะ-รี
– อินฺทฺริย ก็ไม่ใช่ อิน-ซิ-ยะ และไม่ใช่ อิน-ทะ-ริ-ยะ
(4) เสียงที่ถูกต้องของ อินฺทฺริย คือ ทฺ กึ่งเสียงควบกับ ร ออกเสียงว่า อิน-เทฺรียะ (-เทฺรียะ เสียงสระเหมือนคำว่า เกี๊ยะ)
(5) ถ้าเป็น อินฺทฺริยํ ก็ออกเสียงว่า อิน-เทฺรียง (-เทฺรียง เสียงเหมือนคำว่า พร้อม-เพรียง)
(6) โปรดสังเกตว่า อินฺทฺริย ในบาลี –ทฺริ– เป็นสระ อิ ไม่ใช่สระ อี แต่ในภาษาไทยเป็น (อิน)-ทรี-(ย์) สระ อี
(7) หลักภาษาไทยบอกว่า “ทร เท่ากับ ซ” เช่น ทรวดทรง ทรุดโทรม ทราบ ทราม ทราย นอกจากนี้ยังมีคำว่า นกอินทรี ปลาอินทรี ซึ่งออกเสียงว่า อิน-ซี แบบคำไทย เมื่อเขียน “อินฺทฺริย” เป็น “อินทรีย์” (-ทรี-) รูปคำเหมือนกับ “อินทรี” ของไทย จึงมีผู้อ่านเป็น อิน-ซี ตามหลักคำไทยไปด้วย ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็กำหนดคำอ่านไว้เช่นนั้น
(8) เพราะคุ้นกับการอ่าน “อินทรีย์” ว่า อิน-ซี และรู้ว่ามาจากคำบาลีว่า “อินฺทฺริย” ดังนั้นเมื่อเห็นคำว่า “อินฺทฺริยํ” ก็จึงออกเสียงเป็น อิน-ซิ-ยัง อิงภาษาไทยไปด้วย
(9) อีกพวกหนึ่งเห็น “อินฺทฺริยํ” อาจไม่ทันสังเกตว่ามีจุดใต้ ทฺ และที่เขียนคำบาลีแบบคำอ่าน (เช่น นโม เขียนเป็น นะโม) เขียน “อินฺทฺริยํ” เป็น อินทริยัง ก็ยิ่งแน่ใจว่าต้องอ่านเรียงตัวอักษร จึงอ่านเป็น อิน-ทะ-ริ-ยัง แม้วิธีสะกดแบบเก่าบางแห่งจะใส่เครื่องหมายบนตัว ท เป็น อินท๎ริยัง ก็ยังพอใจจะว่า อิน-ทะ-ริ-ยัง อยู่นั่นเอง
(10) การจะเกณฑ์ให้อ่านถูกต้องตรงกันทั่วทุกหนทุกแห่งสำหรับประเทศไทยย่อมทำได้ยาก เพราะ
– เมืองเราไม่ได้เรียนบาลีเพื่อการสนทนา แต่เน้นการเรียนเพื่อแปล ดังนั้นการออกเสียงผิดถูกอย่างไรจึงไม่ค่อยอยู่ในความสนใจ
– แม้อาจจะมีคำแนะนำออกไปจากส่วนกลางว่าคำไหนให้ออกเสียงอย่างไร แต่สำนักต่างๆ ก็ขาดความใส่ใจที่จะฝึกซ้อมให้ออกเสียงถูกต้องตรงกัน จึงคงปล่อยให้ออกเสียงกันไปตามความเคยชินหรือตามธรรมเนียมของสำนักนั้นๆ
(11) สิ่งที่จะทำได้อย่างดีที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ก็คือ ทำใจ พร้อมไปกับเรียนรู้เพื่อรู้ทัน จนกว่าจะมีผู้บริหารสังคมที่เข้มแข็งและมีบารมีมากพอมาปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป
อินฺทฺริย–อินทรีย์ แปลว่า “เป็นใหญ่”
: เป็นใหญ่ตามหน้าที่ – ดี
: เป็นใหญ่เกินหน้าที่ – เสีย
—————-
(ตามคำถามของคุณครู Pisoot Jaithiangkul)
#บาลีวันละคำ (753)
10-6-57