บุคลิก (บาลีวันละคำ 755)
บุคลิก
ภาษาไทยอ่านว่า บุก-คะ-ลิก
บาลีเป็น “ปุคฺคลิก” อ่านว่า ปุก-คะ-ลิ-กะ
“ปุคฺคลิก” มาจาก ปุคฺคล + อิก (อิ-กะ) ปัจจัย
“ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก”
(2) “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า”
(3) “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้
(4) “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย
“ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –
(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)
(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)
ปุคฺคล + อิก = ปุคฺคลิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นของเฉพาะบุคคล” หมายถึง เป็นของบุคคลคนเดียว, เฉพาะคน, ต่างหาก (belonging to a single person, individual, separate)
“ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
“บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล”
“ปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคลิก” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
“บุคลิก, บุคลิก– : (คำวิเศษณ์) จําเพาะคน”
พจน.54 ยังเก็บลูกคำของ “บุคลิก” ไว้อีก 3 คำ คือ –
(1) บุคลิกทาน [บุกคะลิกกะทาน] : (คำนาม) ทานที่ทายกให้จําเพาะตัวคน, คู่กับ สังฆทาน คือ ทานที่ให้แก่สงฆ์. (ตัดมาจาก ป. ปาฏิปุคฺคลิกทาน).
(2) บุคลิกภาพ [บุกคะลิกกะพาบ] : (คำนาม) สภาพนิสัยจําเพาะคน.
(3) บุคลิกลักษณะ [บุกคะลิกกะลักสะหฺนะ, บุกคะลิกลักสะหฺนะ] : (คำนาม) ลักษณะจําเพาะตัวของแต่ละคน, บุคลิก ก็ว่า.
โปรดสังเกต :
(1) ปุคฺคล ภาษาไทยเป็น “บุคคล” ยังคงมี ค ควาย 2 ตัวเหมือนบาลี เพียงแต่แปลง ป เป็น บ
(2) ปุคฺคลิก ภาษาไทยเป็น “บุคลิก” ตัด ค ออกตัวหนึ่ง
(3) บุคลิก อ่านว่า บุก-คะ-ลิก ระวังอย่าอ่านผิดเป็น บุก-คลิก (เหมือนคลิกซ้าย คลิกขวา ในภาษาคอมพิวเตอร์)
: อย่าเพิ่งดีใจว่า บุคลิกดีสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
: เพราะโอกาสที่จะล้มเหลวก็ยังมีอยู่อีกครึ่งหนึ่งเช่นกัน
#บาลีวันละคำ (755)
12-6-57