บาลีวันละคำ

ประวัติศาสตร์ (บาลีวันละคำ 754)

ประวัติศาสตร์

ประกอบด้วย ประวัติ + ศาสตร์

ประวัติ” บาลีเป็น “ปวตฺติ” อ่านว่า ปะ-วัด-ติ (โปรดสังเกตว่า บาลีอ่านว่า -วัด- ไม่ใช่ -หฺวัด-) มีรากศัพท์มาจาก (= ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ติ ปัจจัย

: + วตฺ = ปวต + ติ = ปวตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นไปทั่วไป” หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้น, เหตุการณ์, ข่าว, ความเป็นไป (happening, incident, news)

ปวตฺติ” ใช้ในภาษาไทยว่า “ประวัติ” อ่านว่า ปฺระ-หฺวัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประวัติ : เรื่องราวว่าด้วยความเป็นไปของคน สถานที่ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ประวัติศรีปราชญ์ ประวัติวัดมหาธาตุ”

ศาสตร์” บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. (science, art, lore)

สตฺถ” สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร” ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสตร์ : ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์”

ปวตฺติ + สตฺถ = ปวตฺติสตฺถ > ประวัติศาสตร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประวัติศาสตร์ : วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้นตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน”

ข้อสังเกต :

(1) คำที่หมายถึง “ประวัติศาสตร์” ภาษาบาลีไม่ได้ใช้คำว่า “ปวตฺติสตฺถ” คำนี้เป็นเพียงคิดเทียบคำว่า “ประวัติศาสตร์” ในภาษาไทยเท่านั้น

(2) คำที่หมายถึง “ประวัติศาสตร์” ภาษาบาลีใช้คำว่า อิติหาส (อิ-ติ-หา-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “มีมาดังนี้” “เป็นมาดังนี้

(3) อิติหาส หรือประวัติศาสตร์ จัดเป็นวิชาการสำคัญในรายการศิลปวิทยา 18 สาขาที่ผู้นำสังคมจะต้องศึกษา

(4) คำว่า “ประวัติศาสตร์” พจน.54 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ ปฺระ-หฺวัด-ติ-สาด และ ปฺระ-หฺวัด-สาด

(5) ตามหลักการอ่านคำสมาส คำว่า “ประวัติศาสตร์”ต้องอ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-ติ-สาด (ออกเสียง -ติ- ด้วย) เท่านั้นจึงจะถูกต้องและสวยงาม การที่มีผู้อ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-สาด (ไม่ออกเสียง -ติ-) เกิดจาก (๑) ความไม่รู้ (๒) ความชอบง่าย

(6) ท่านอาจารย์เกษม บุญศรี กรรมการชำระพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน (ถึงแก่กรรมแล้ว) เคยกล่าวไว้ว่า คำว่า “ประวัติศาสตร์” นี้ ใครจะอ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-สาด ก็อ่านได้ แต่ต้องหมายถึง “ประวัติการทำเสื่อ” (ปฺระหฺวัดสาด คือ ประวัติของสาด = เสื่อสาด) ถ้าจะให้หมายถึงวิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้นตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน ต้องอ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-ติ-สาด

หลักการแห่งความเจริญทางวิชาการ คือ

: พัฒนาความไม่รู้ขึ้นไปหามาตรฐาน

: ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้

#บาลีวันละคำ (754)

11-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *