บาลีวันละคำ

อรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (บาลีวันละคำ 1,310)

อรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

อ่านว่า อะ-รุน-ราด-ชะ-วะ-รา-ราม ราด-ชะ-วะ-ระ-มะ-หา-วิ-หาน

ประกอบด้วย อรุณ + ราช + วร + อาราม ราช + วร + มหา + วิหาร

(๑) “อรุณ

บาลีอ่านว่า อะ-รุ-นะ รากศัพท์มาจาก อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุณ ปัจจัย

: อรฺ + อุณ = อรุณ แปลตามศัพท์ว่า “แสงที่เป็นไปโดยมีแสงแดงอ่อนๆ” “มีแสงแดงอ่อนๆ” “แสงที่เป็นไปโดยเป็นสีทอง

อรุณ” มีความหมาย ๒ อย่างคือ (1) ดวงอาทิตย์ (the sun) (2) รุ่งอรุณ (the dawn)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อรุณ : (คำนาม) นามพระอาทิตย์; เช้า; สีหรือแสงอรุณ; ชายใบ้; name of the sun; the dawn; the colour of the sun; a dumb man.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรุณ : (คำนาม) เวลาใกล้พระอาทิตย์จะขึ้น มี ๒ ระยะ คือ มีแสงขาวเรื่อ ๆ (แสงเงิน) และแสงแดงเรื่อ ๆ (แสงทอง), เวลายํ่ารุ่ง. (ป., ส.).”

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

(๓) “วร

บาลีอ่านว่า วะ-ระ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ. เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, ความกรุณา

(๔) “อาราม

บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” : รมฺ > ราม)

: อา + รมฺ = อารมฺ + = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี

อาราม” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)

(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)

(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).

(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.

ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง วัด

(๕) “มหา

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ, ขยายตัว) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

(๖) “วิหาร

บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” : หรฺ > หาร

: วิ + หรฺ = วิหรฺ + = วิหรณ > วิหร > วิหาร แปลตามศัพท์ว่า “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร

วิหาร” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่” ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่

ในภาษาบาลี “วิหาร” ที่แปลว่า “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง “วัด” (monastery สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติเป็นที่อยู่ของสงฆ์) เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน สถานที่เหล่านี้ล้วนมีฐานะเป็น “วิหาร” คือที่อยู่ของพระสงฆ์

ในภาษาไทย “วิหาร” เข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า อาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คู่กับ “โบสถ์” คืออาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรม

ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร

ในภาษาบาลี พื้นที่หมดทั้งวัด เรียกว่า “วิหาร

ประสมคำ :

ราช + วร + อาราม = ราชวราราม แปลว่า วัดอันประเสริฐของพระราชา, วัดของพระราชาผู้ประเสริฐ

ราช + วร + มหา + วิหาร = ราชวรมหาวิหาร แปลว่า วัดใหญ่อันประเสริฐของพระราชา, วัดใหญ่ของพระราชาผู้ประเสริฐ

ความเข้าใจ :

๑ “อรุณ” เป็นชื่อวัด “ราชวราราม” เป็นสร้อยนามของวัด หรืออีกนัยหนึ่ง “อรุณ” เป็นชื่อสั้นๆ ของวัด “อรุณราชวราราม” เป็นชื่อเต็ม

๒ “ราชวรมหาวิหาร” ไม่ใช่สร้อยนามของวัด แต่เป็นคำบอก “ชนิด” ของพระอารามหลวง ซึ่งมีหลายชนิด เช่น วรวิหาร วรมหาวิหาร ราชวรวิหาร ราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดธรรมดา ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สิ่งก่อสร้างภายในวัดที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือ พระปรางค์

พระปรางค์วัดอรุณเป็นปูชนียสถาน ท่านสร้างไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้เป็นพุทธานุสติ เป็นพุทธบูชา

แต่คนที่มาเที่ยวชมพระปรางค์วัดอรุณทุกวันนี้ มาเพื่อมาดู มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก จะหาจิตวิญญาณที่มุ่งมาเพื่อกราบไหว้บูชาแทบไม่มีแล้ว

……..

อดีต :

กษัตริย์สร้างปรางค์อรุณเป็นบุญล้ำ

ทุกเช้าค่ำท่านบูชามหากุศล

ปัจจุบัน :

ทั้งเทศไทยใส่เกือกไม่เลือกคน

ย่ำขึ้นบนองค์ปรางค์เหมือนทางตีน

30-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย