อภิลักขิตกาล (บาลีวันละคำ 1,311)
อภิลักขิตกาล
อ่านว่า อะ-พิ-ลัก-ขิด-ตะ-กาน
ประกอบด้วย อภิลักขิต + กาล
(๑) “อภิลักขิต”
บาลีเป็น “อภิลกฺขิต” อ่านว่า อะ-พิ-ลัก-ขิ-ตะ ประกอบด้วย อภิ + ลกฺขิต
1) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
2) “ลกฺขิต”
อ่านว่า ลัก-ขิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = ทำเครื่องหมาย, กำหนด) + อิ อาคม + ต ปัจจัย
: ลกฺข + อิ + ต = ลกฺขิต แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กำหนดแล้ว” คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้น หรือถูกทำเครื่องหมายไว้
อภิ + ลกฺขิต = อภิลกฺขิต แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กำหนดแล้วอย่างดียิ่ง” ใช้ในความหมายว่า กำหนด, หมายไว้, เริ่ม, มีฤกษ์งามยามดี (fixed, designed, inaugurated, marked by auspices)
(๒) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” : กลฺ > กาล
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน (time)
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ –
(1) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(2) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
อภิลกฺขิต + กาล = อภิลกฺขิตกาล แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่กำหนดไว้เป็นอย่างดี”
“อภิลกฺขิตกาล” ในภาษาไทยเขียน “อภิลักขิตกาล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อภิลักขิตกาล : (คำนาม) เวลาที่กําหนดไว้, วันกําหนด, (มักนิยมใช้แก่วันทําบุญคล้ายวันเกิดหรือวันทําพิธีประจําปี).”
ความเข้าใจ :
“อภิลักขิตกาล” = เวลาที่กําหนดไว้ มีความหมาย 2 นัย คือ :
(1) วันเวลาที่สังคมส่วนรวมรับรู้ร่วมกันมาก่อนแล้วโดยไม่ต้องบอกกล่าว เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันสำคัญทางศาสนา เช่นวันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา เป็นต้น
(2) วันเวลาที่กำหนดขึ้นเฉพาะครั้งคราวเพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งต้องบอกกล่าวให้รู้ล่วงหน้า เช่น วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ วันทำพิธีมงคลสมรส เป็นต้น
: บุญ ทำได้บ่อยๆ
: ไม่ต้องรอคอยอภิลักขิตกาล
31-12-58