คาถาอาคม (บาลีวันละคำ 1,314)
คาถาอาคม
อ่านว่า คา-ถา-อา-คม
ประกอบด้วย คาถา + อาคม
(๑) “คาถา”
รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ถ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: คา + ถ = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)
ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์
คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน
คาถา ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์”
ตัวอย่างคาถาหรือฉันท์ 1 บท ในภาษาบาลี เช่นปัฐาวัตรฉันท์ มีบาทละ 8 พยางค์ –
อาโรคฺยปรมา ลาภา
สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ
วิสฺสาสปรมา ญาติ
นิพฺพานปรมํ สุขํ.
“คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง
ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ
เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”
จะเห็นว่าในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด
เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด
(๒) “อาคม”
บาลีอ่านว่า อา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก อา + คมฺ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย
: อา + คมฺ = อาคม + อ = อาคม แปลตามศัพท์ว่า “การมา” “สิ่งที่มา”
เสริมความรู้ :
“อา” เป็นคำจำพวกที่เรียก “อุปสรรค” คือใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ
ในที่นี้ “อา” ใช้ในความหมายว่า “กลับความ”
“กลับความ” หมายความว่า คำที่อยู่หลัง (โดยมากเป็นธาตุ คือรากศัพท์) มีความหมายอย่างไร เมื่อมี “อา-” มานำหน้า ก็จะเปลี่ยนความหมายเป็นตรงกันข้าม เช่น –
– ทา ธาตุ หมายถึง “ให้” ถ้ามี “อา” นำหน้า เป็น “อาทา” เช่นคำว่า “อาทาน” ก็กลับความหมายจาก ให้ เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น เอา, รับ, จับ, ถือ
– นี ธาตุ หมายถึง “นำไป” ถ้ามี “อา” นำหน้า เป็น “อานี” เช่นในคำว่า “อานีต” ก็กลับความหมายจาก นำไป เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น นำมา
ดังนั้น คมฺ ธาตุ หมายถึง “ไป” เมื่อมี “อา” นำหน้าเป็น “อาคม” ก็กลับความหมายจาก “ไป” เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น “มา”
แต่พึงทราบว่า คำที่ “อา” ไปนำหน้ามิใช่จะ “กลับความ” ไปหมดทุกคำ
“อา” อาจจะมีความหมายว่า “ทั่วไป” หรือ “ยิ่งขึ้น” ก็ได้
คำไหนจะกลับความหรือไม่กลับความ ขึ้นอยู่กับความหมายที่ลงตัวแล้วของคำนั้นๆ
“อาคม” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การมา, การเข้าใกล้, บรรลุ (coming, approach, result)
(2) สิ่งที่คนอาศัย, ทรัพยากร, หนทาง, ที่อ้างอิง, แหล่งสำหรับอ้างอิง, ตำรา, คัมภีร์, พระบาลี (that which one goes by, resource, reference, source of reference, text, Scripture, Canon)
(3) กฎ, ข้อปฏิบัติ, วินัย, การเชื่อฟัง (rule, practice, discipline, obedience)
(4) ความหมาย, ความเข้าใจ (meaning, understanding)
(5) การใช้คืน (ซึ่งหนี้สิน) (repayment [of a debt])
(6) เป็นศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ = “เพิ่มเข้าไป”, พยัญชนะหรือพยางค์ที่เพิ่มขึ้นหรือใส่เข้าไป (as gram. = “augment”, a consonant or syllable added or inserted)
ตัวอย่างความหมายในข้อ (6) เช่น :
– ยทิทํ (ยะ-ทิ-ทัง, ในบทสวดสังฆคุณ-ยทิทํ จตฺตาริ …) มาจากคำว่า ยํ + อิทํ จะเห็นว่าไม่มี ท ทหาร เมื่อสนธิกันควรจะเป็น “ยํอิทํ” หรือ “ยอิทํ” แต่เป็น “ยทิทํ” เพราะเพิ่ม ท ทหารลงไประหว่าง ยํ กับ อิทํ
ท ทหาร ที่เพิ่มเข้าไปนี้คือ “อาคม” เรียกว่า ท-อาคม
– จริต ประกอบด้วย จรฺ ธาตุ + ต ปัจจัย ควรเป็น “จรต” แต่เป็น “จริต” เพราะเพิ่มสระ อิ ที่ –ร–
สระ อิ ที่เพิ่มเข้ามานี้คือ “อาคม” เรียกว่า อิ-อาคม
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาคม : (คำนาม) เวทมนตร์, บางทีใช้คู่กับ คาถา เป็น คาถาอาคม; การมา, การมาถึง, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น มีนาคม คือ มีน + อาคม แปลว่า การมาถึงราศีมีน. (ป., ส.).”
คาถา + อาคม = คาถาอาคม แปลตามความหมายในภาษาไทยว่า “คาถาและอาคม” ก็ได้ “คาถาที่เป็นอาคม” คือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้ หรือจะแปลว่า “คาถาที่นำไปสู่ผลสำเร็จ” ก็ได้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คาถาอาคม : (คำนาม) คำเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์.”
: คาถาอาคมที่ศักดิ์สิทธิ์
: ไม่ขลังเท่าจิตที่ฝึกอบรมดี
————–
(ตอบแถมตามคำถามของ Chakkris Uthayophas)
3-1-59