บาลีวันละคำ

นเรศวร (บาลีวันละคำ 763)

นเรศวร

อ่านว่า นะ-เร-สวน

ประกอบด้วย นร + อีศฺวร

บาลีเป็น นร + อิสฺสร

นร” (นะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้นำไป

(2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่

(3) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่

(4) “ผู้อันกรรมของตนนำไป

(5) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้เป็น” คือผู้ไปเป็น ไปเกิดในภูมิที่น่าปรารถนา

(2) “ผู้เป็นใหญ่

(3) “ผู้ครอบงำ” หมายถึงผู้ปกครอง

ความหมายที่เข้าใจกันคือ ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า

อิสฺสร” เทียบสันสกฤตเป็น “อีศฺวร” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเป็นเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป”

นร + อิสฺสร ตามรูปบาลีเป็น “นริสฺสร” อ่านว่า นะ-ริด-สะ-ระ

นร + อีศฺวร ตามรูปสันสกฤต แผลง อี เป็น เอ

: นร + อีศฺวร = นรีศฺวร > นเรศฺวร อ่านว่า นะ-เรด-สฺวระ (ศฺ เป็นตัวสะกดและออกเสียงกึ่งเสียง)

เสียง “-สฺวระ” ออกเสียงเหมือน สะวันระ พูดให้เร็วขึ้นเป็น ซวน (กลืนเสียง ร ลงคอไป)

นเรศฺวร ในภาษาไทยเขียนเป็น “นเรศวร” และเราออกเสียงตามถนัดปากว่า นะ-เร-สวน

: นะ-เรด-สะวันระ > นะเรดสะวัน > นะเรดซวน > นะ-เร-สวน

นเรศวร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งคน” “คนผู้เป็นใหญ่” หรือ “จอมคน

คำว่า “นเรศวร” ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอันดี หมายถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผู้ทรงกู้อิสรภาพให้ชาติไทยพ้นจากการยึดครองของพม่า พระวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่คือ “ยุทธหัตถี” การชนช้างชนะพระอุปราชาแห่งพม่า ทรงครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 2133 – พ.ศ. 2148

พระนาม “นเรศวร” นี้ ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า บางทีจะเรียกกันว่า “พระนเรศ” (-นะ-เรด) เท่านั้น ดังมีเพลงไทยชื่อ “นเรศวร์ชนช้าง” (นะ-เรด-ชนช้าง) เป็นพยานอยู่

: ถ้าเป็นใหญ่เหนือตนไม่ได้

: ก็เป็นใหญ่เหนือคนไม่ได้

#บาลีวันละคำ (763)

20-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *