บาลีวันละคำ

พุทธภูมิ (บาลีวันละคำ 764)

พุทธภูมิ

อ่านว่า พุด-ทะ-พูม

บาลีเป็น “พุทฺธภูมิ” อ่านว่า พุด-ทะ-พู-มิ

ประกอบด้วย พุทฺธ + ภูมิ

พุทฺธ” (พุด-ทะ) โปรดสังเกตจุดใต้ ทฺ ซึ่งทำให้ ทฺ เป็นตัวสะกด ภาษาไทยเขียน “พุทธ

ในภาษาไทย ถ้าอยู่ท้ายศัพท์ อ่านว่า –พุด เช่น “พระพุทธ” อ่านว่า พฺระ-พุด

ถ้ามีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า –พุด-ทะ- เช่น “พระพุทธเจ้า” อ่านว่า พฺระ-พุด-ทะ-เจ้า

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

ภูมิ” (พู-มิ) แปลตามรากศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “ภูมิ” ไว้ว่า แผ่นดิน, ที่ดิน; พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้; สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

ในที่นี้คำว่า “ภูมิ” หมายถึง ระดับจิตใจ, สภาพหรือคุณภาพของจิต

พุทฺธ + ภูมิ = พุทฺธภูมิ แปลทับศัพท์ว่า “ภูมิแห่งพระพุทธเจ้า

ในคัมภีร์ไขความว่า คือการบรรลุสัพพัญญุตญาณ หมายถึงการได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

พุทธภูมิ” ตามความหมายในคัมภีร์ คือ การได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นคำที่พูดว่า “ปรารถนาพุทธภูมิ” หมายถึงปรารถนาที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ปัจจุบัน ในหมู่คนไทยเมื่อพูดว่า “พุทธภูมิ” จะหมายถึงประเทศอินเดีย อันเป็นดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา คือใช้คำว่า “ภูมิ” ในความหมายว่า ดินแดน และ “พุทธ” หมายถึง พระพุทธเจ้า หรือ พระพุทธศาสนา

: ไปให้ถึงพุทธภูมิ

: อย่าไปแค่อินเดีย

#บาลีวันละคำ (764)

21-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *