ธุรันธร (บาลีวันละคำ 1,321)
ธุรันธร
มอบไว้สำหรับตั้งชื่อเด็กผู้เกิดมาเพื่อรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
อ่านว่า ทุ-รัน-ทอน
ประกอบด้วย ธุร + น + ธร
(๑) “ธุร”
บาลีอ่านว่า ทุ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ ธุพฺพิ และลบ พฺพ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ > ธุ)
: ธุพฺพิ + อร = ธุพฺพิร > ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน”
(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ธ-(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุรฺ)
: ธรฺ + อ = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้”
“ธุร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)
(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)
(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)
(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)
(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)
(๒) “ธร”
บาลีอ่านว่า ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย
: ธรฺ + อ = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)
การประสมคำ :
(1) แบบไม่ซ้อน นฺ : ธุร + ธร = ธุรธร อ่านแบบบาลีว่า ทุ-ระ-ทะ-ระ อ่านแบบไทยว่า ทุ-ระ-ทอน
(2) แบบซ้อน นฺ : ธุร + นฺ + ธร = ธุรนฺธร อ่านแบบบาลีว่า ทุ-รัน-ทะ-ระ เขียนแบบไทยเป็น “ธุรันธร” อ่านว่า ทุ-รัน-ทอน
“ธุรธร” และ “ธุรนฺธร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งธุระ” หมายถึง ผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน (one who bearing the office or taking the responsibility)
หลักภาษาอย่างง่าย :
ธุร + ธร พูดตามศัพท์เต็มว่า ธุรํ + ธโร อาจได้รูปเป็น 2 แบบ คือ –
(1) ธุรํ + ธโร : ลบนิคหิตที่ ธุรํ = ธุรธโร > ธุรธร
(2) ธุรํ + ธโร : แปลงนิคหิตที่ ธุรํ เป็น นฺ ตามสูตร “แปลงนิคหิตเป็นพยัญชนะที่สุดวรรคของพยัญชนะต้นของศัพท์หลัง”
พิสูจน์ :
> ศัพท์หลัง คือ ธโร (ธุรํ + ธโร)
> พยัญชนะต้นของศัพท์หลัง คือ ธ
> ธ เป็นพยัญชนะในวรรค ต
> พยัญชนะในวรรค ต คือ ต ถ ท ธ น
> พยัญชนะที่สุดวรรค คือ น
เพราะฉะนั้น : ธุรํ > ธุรนฺ + ธโร = ธุรนฺธโร > ธุรนฺธร > ธุรันธร
คำอื่นๆ ที่ลงท้ายด้วย –ธร ใช้กฎเดียวกัน เช่น –
ชุตินธร = ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง
ยุคนธร = “ทรงไว้ซึ่งคู่” คือภูเขาที่สูงเทียมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
สิรินธร = ผู้ทรงไว้ซึ่งสิริ
: มีหน้าที่แต่ไม่ทำ ก็เกะกะ
: ทำเรื่องที่ไม่ใช่ธุระ ก็วุ่นวาย
10-1-59