อะวังสิโร (บาลีวันละคำ 1,322)
อะวังสิโร
ภาษาธรรมที่ขอนำเข้าภาษาไทย
อ่านว่า อะ-วัง-สิ-โร
ประกอบด้วย อะวัง + สิโร
(๑) “อะวัง”
เขียนแบบบาลีเป็น “อวํ” (อะ-วัง) เป็นศัพท์จำพวกอุปสรรค-นิบาต คำเดิมเป็น “อว” (อะ-วะ) หลักบาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน บอกว่า “อว หรือ โอ = ลง” หมายความว่า อว ก็คำหนึ่ง โอ ก็คำหนึ่ง มีความหมายว่า ลง, ลงไปข้างล่าง (down, downward)
แต่ก็มีสูตรแปลงรูป “อุ” (คำอุปสรรค) ที่รู้กันว่า “พฤทธิ์ อุ เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อว” = อุ > โอ > อว
คำตัวอย่างคือ สฺวากฺขาต (ในบทพระธรรมคุณที่เราคุ้นกันว่า สฺวากฺขาโต) มาจาก สุ (ดี, งาม) + อกฺขาต (กล่าว, บอก)
– แผลง (ศัพท์วิชาการว่า “พฤทธิ์”) อุ (ที่ สุ) เป็น โอ = สุ > โส
– แปลง โอ เป็น อว = โส > สฺว
: สฺว + อกฺขาต = สฺวกฺขาต > สฺวากฺขาต
(๒) “สิโร”
ศัพท์เดิมเป็น “สิร” (สิ-ระ) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = คบหา, ผูก) + ร ปัจจัย
: สิ + ร = สิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องคบหา” คือใช้ก้มยอมรับกัน (2) “อวัยวะอันคอเชื่อมไว้” (3) “ส่วนอันดอกไม้ติดอยู่”
“สิร” หมายถึง –
(1) ศีรษะหรือหัว (head)
(2) ยอดไม้, ปลาย (tip)
ในภาษาไทย คำว่า “สิร” ที่คุ้นหูมีอยู่ในเพลงสรรเสริญพระบารมีตอนที่ว่า “เย็นศิระเพราะพระบริบาล”
“สิร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “สิโร”
การประสมคำ :
(1) “อว” ในที่นี้ใช้เป็นคำวิเศษณ์ ไวยากรณ์บาลีกำหนดให้ลงนิคหิตเป็นเครื่องหมาย : อว > อวํ
(2) อวํ + สิโร = อวํสิโร เขียนแบบไทยเป็น “อะวังสิโร” แปลตามศัพท์ว่า “มีหัวลง” (head downward) เป็นคำแสดงกิริยาที่ตกลงมาจากที่สูงหรือตกลงไปข้างล่างในลักษณะหัวทิ่มลงไป
“อะวังสิโร” ใช้เป็นสำนวนหมายความหมายว่า พลาดท่าเสียที เสียท่า หมดท่า สอบตก พลาดหวัง ทำไม่สำเร็จ สู้ไม่ได้ แพ้หมดรูป
นักเรียนบาลี ถ้าทำปัญหาไม่ได้ หรือแปลผิดตอบผิด ก็มักจะพูดกันติดปากว่า “ประโยคนี้…อะวังสิโร”
เวลาทำอะไรผิดพลาด ช่วยกันพูดให้ติดตลาดว่า “อะวังสิโร”
: พูด ก็กลัวพัง
: นิ่ง ก็กลัวพัง
: แบบนี้มีหวังอะวังสิโร
11-1-59