บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากหลักภาษา ถึงหลักคำสอน

จากหลักภาษา ถึงหลักคำสอน

——————————-

เมื่อวานนี้ (๑๗ มกราคม ๒๕๖๔) ผมอ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง พบคำที่ท่านสะกดผิดคำหนึ่ง คือ “อุปทาน” (ความยึดมั่นถือมั่น)

ท่านสะกดอย่างนี้ถึง ๒ ครั้ง แปลว่าไม่ใช่เผลอ แต่จงใจสะกดอย่างนี้

ที่จงใจสะกดอย่างนี้ก็เพราะเข้าใจว่าคำนี้สะกดอย่างนี้ถูกต้องแล้ว

……………………………

คำที่หมายถึง “ความยึดมั่นถือมั่น” สะกดว่า “อุปาทาน” 

อุปาทาน / อุ-ปา-ทาน

ไม่ใช่ อุปทาน / อุ-ปะ-ทาน

อุปา-

ไม่ใช่ อุป-

……………………………

ท่านผู้นี้โพสต์เรื่องน่าอ่าน ชวนคิด ทั้งเรื่องการเมืองและธรรมะ มีผู้กดถูกใจเป็นพันทุกครั้ง

ผู้กดถูกใจโพสต์ที่ผมเอ่ยถึงนี้ก็คงเห็นคำว่า “อุปทาน” ที่สะกดผิด แต่ไม่มีใครติดใจสนใจหรือให้ความสำคัญ

เหตุผลก็น่าจะมี ๒ อย่าง คือ –

๑ เข้าใจว่าสะกดอย่างนั้นถูกต้องแล้ว

๒ รู้ว่าสะกดผิด แต่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญอะไร

เวลานี้เราเป็นอย่างนี้กันมาก คือเห็นคำอะไรที่ใครเขียนผิดก็เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญอะไร ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ทักท้วง ตลอดจนเห็นว่าธุระไม่ใช่ ปล่อยปละละเลยกันไปตามสบาย 

จนในที่สุด คำผิดกลายเป็นถูก

สาเหตุสำคัญที่เราปล่อยให้ผิดกลายเป็นถูกก็คือ การไม่ศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิม แต่นิยมไปหยิบฉวยคว้าเอาสิ่งที่เห็นรอบตัวเป็นหลักแล้วยึดเอาเป็นความถูกต้อง

ตัวอย่างคำที่ใช้กันผิดจนกำลังจะกลายเป็นถูกคำหนึ่ง ที่ผมยกขึ้นมาท้วงบ่อยๆ จนญาติมิตรหลายคนนึกรำคาญ ก็คือคำว่า “จำวัด”

“จำวัด” หมายถึงพระนอนหลับ (sleep) 

แต่เวลานี้มีคนเอามาใช้ในความหมายว่า พระพักอยู่ที่วัด (stay) 

คือไปจับเอาคำว่า “จำ” มาแปลว่า อยู่ประจำที่ 

“วัด” ก็คือวัด (อาราม) 

รวมกันเป็น “จำวัด” แปลว่า อยู่ประจำที่วัด

ยึดเอาความเข้าใจอย่างนี้ว่าถูกต้อง

พอพูดถึงพระรูปไหนอยู่ที่วัดไหน ก็เลยใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่าอยู่ประจำที่วัดนั้นวัดนี้ เช่น พระ ก. จำวัดอยู่ที่วัดโพธิ์

ทั้งหมดนี้เป็นความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนทั้งสิ้น

เหตุเพราะไม่ศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิม

เพียงแค่เปิดพจนานุกรมก็จะเข้าใจความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “จำวัด”

แต่ไม่เปิด ไม่เอา ไม่ชอบ ขี้เกียจ

เอาที่คนเขาพูดกันใช้กันรอบๆ ตัวนี่แหละดีกว่า สบายกว่า

พอใช้ผิดกันมากๆ เข้า เลยกลายเป็นข้ออ้างขึ้นมาทันที-ใครๆ เขาก็ใช้กันอย่างนี้ทั้งนั้น

จากนั้นก็จะมีผู้สร้างทฤษฎีขึ้นมารองรับ-ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ แล้วแต่ว่าเราจะสมมุติกัน เมื่อคนส่วนใหญ่สมมุติคือรับรู้ให้ตรงกันก็เป็นอันใช้ได้ ถือว่าถูกต้องแล้ว

หลักภาษาก็ถูกเขี่ยทิ้งลงถังขยะไป

นี่คือใช้ผิดแล้วไม่ช่วยกันทักท้วง

ปล่อยให้ความผิดนั้นขยายตัวจนโต จนแก้ไม่ได้

รากเหง้าก็เกิดมาจากความเกียจคร้านที่จะศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิม

เวลานี้ ความเกียจคร้านที่จะศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิมกำลังครอบงำคนส่วนมากอยู่

แน่นอน การศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิมเหมือนว่ายทวนน้ำ เหนื่อย หนัก ไม่สนุก

ลอยตัวตามน้ำสบายกว่า

ลอยตัวตามน้ำคืออะไร ก็คือหยิบฉวยเอาสิ่งที่เห็นอยู่รอบๆ ตัวนั่นแหละขึ้นมาใช้ ผิดถูกไม่ต้องสนใจ คนเขาใช้กันอย่างนี้-เท่านี้พอ

—————–

เวลานี้ ความเกียจคร้านที่จะศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิมกำลังลุกลามเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตของชาวพุทธ ทั้งชาวบ้าน ทั้งชาววัด ด้วยแล้ว

ขอยกมาชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างแค่ ๒ เรื่อง –

เรื่องของชาวบ้านก็อย่างเช่น-ใส่บาตรทำไม

เรื่องของชาววัดก็อย่างเช่น-บวชทำไม

…………….

ชาวบ้านใส่บาตรกันทั่วไป ส่วนมากทำเป็นประจำ ทำทุกวัน 

แต่เคยศึกษาตรวจสอบเรียนรู้หลักเดิมกันสักกี่คนว่า ใส่บาตรทำไม ทำไมต้องใส่บาตร ทำไมเวลาจะ “ทำบุญ” จึงต้องใส่บาตรแก่พระภิกษุสามเณร 

คนโซก็เยอะแยะไป 

หมาแมวข้างถนนก็เยอะแยะไป

ทำไมไม่ให้อาหารคนโซ 

ทำไมไม่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว

ทำไมจึงเชื่อว่าใส่บาตรให้พระเณรได้บุญมากกว่า

มีกี่คนที่อธิบายเหตุผลได้ถูกต้อง

ไม่ใช่เหตุผลแบบคิดเอาเอง เชื่อเอาเอง พูดเอาเอง

……………………………

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตาย หนทางนั้นถ้ายังอยู่ครองเรือน ย่อมดำเนินตามได้ยาก คนส่วนหนึ่งที่พร้อมแล้วจึงยินดีสละบ้านเรือนไปบวช เพื่อมุ่งปฏิบัติดำเนินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ 

ฝ่ายคนที่ยังไม่พร้อม เห็นใครพร้อมก็ยินดีด้วย ช่วยสนับสนุนด้วยปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เพื่อให้คนที่พร้อมแล้วนั้นมีกำลังปฏิบัติดำเนินตามทางนั้นได้สำเร็จลุล่วงถึงปลายทาง

นี่คือเหตุผลอันเป็นหลักเดิมในการใส่บาตรแก่พระภิกษุสามเณร

……………………………

หลักคำสอนที่เตือนสติพระเณรก็ยังมีเป็นพยานอยู่ นั่นคือคำสอนที่ว่า-บริโภคก้อนข้าวของชาวบ้านแล้วไม่ปฏิบัติธรรมคือการบริโภคอย่างคนเป็นหนี้

คนที่ใส่บาตรทุกวันนี้มีกี่คนที่เข้าใจและใส่บาตรด้วยเหตุผลตามหลักเดิมที่ว่านี้

…………..

เรื่องของชาววัด-บวชทำไม ก็แฝงอยู่ในเหตุผลเดียวกับที่ชาวบ้านใส่บาตรทำไม นั่นก็คือ —

……………………………

ชาวบ้านที่ได้ฟังคำตรัสสอนของพระพุทธองค์แล้วเห็นว่า วิถีชีวิตของผู้ครองเรือนนั้นคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลสสารพัดชนิด จะประพฤติพรหมจรรย์ให้ได้ผลดีต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน จากวิถีชีวิตของคนครองเรือนไปใช้ชีวิตตามวิถีของคนไม่มีบ้านเรือนซึ่งพระพุทธองค์ทรงวางเป็นแบบแผนไว้แล้ว 

นี่คือเหตุผลต้นเดิมที่แท้จริงของการออกบวชในพระพุทธศาสนา

……………………………

ทุกวันนี้มีสักกี่คนที่ศึกษาตรวจสอบเรียนรู้และดำเนินตามหลักเดิมที่ว่านี้

เหตุผลในการออกบวชทุกวันนี้มีหลายอย่าง ล้วนแต่ห่างไกลจากเหตุผลต้นเดิมออกไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ยินดีพอใจที่จะยอมรับกันว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ 

แม้กระทั่งวิถีชีวิตของสงฆ์ที่ใกล้จะเป็นวิถีชีวิตแบบชาวบ้านเข้าไปทุกวัน เราก็พากันยินดีพอใจ และยอมรับกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

ไม่ต่างอะไรกับ-เขียนหนังสือผิด แต่ใครๆ เขาก็เข้าใจตรงกันและยอมรับว่าถูกไปแล้ว จะมาคิดเล็กคิดน้อยอะไรกันนักกันหนา 

นี่แหละที่ผมว่า-จากหลักภาษา ความผันแปรก็ลามเข้ามาถึงหลักคำสอน

ก็คงจะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาบอกว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง-พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง 

ความหมายของท่านจำพวกนี้ก็คือ –

ไม่ต้องไปคิดแก้ปัญหาอะไร 

ไม่ต้องไปทำอะไรให้เหนื่อย 

ลอยเรื่อยไปตามน้ำสบายกว่า

—————–

หลักการ-วิธีคิดของผมก็คือ 

จงพยายามช่วยกันทักท้วงแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูก 

ไม่ใช่พากันยอมรับสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก 

และจงพยายามพัฒนาตนเองให้ขึ้นไปถึงเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานของพระพุทธเจ้า 

ไม่ใช่พากันดึงเอาเกณฑ์ของท่านลงมาหาความอ่อนแอป้อแป้เรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะของตนเองด้วยเหตุผลสารพัดดังที่นิยมอ้างกันอยู่ในทุกวันนี้

คนที่ตั้งใจตะเกียกตะกายขึ้นไป 

หากแม้จะยังขึ้นไม่ได้ไปไม่ถึงยอดเขา

ก็ยังน่านิยมยกย่องควรแก่การให้กำลังใจ

ดีกว่าคนที่ตั้งใจนอนแหมะอยู่ตรงตีนเขานั่นเอง 

ทั้งๆ ที่กำลังวังชาก็มีอยู่พร้อมบริบูรณ์แท้ๆ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มกราคม ๒๕๖๔

๑๓:๕๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *