ตถตา (บาลีวันละคำ 1,324)
ตถตา
อ่านว่า ตะ-ถะ-ตา
ประกอบด้วย ตถ + ตา
(๑) “ตถ” (ตะ-ถะ)
รากศัพท์มาจาก ตถฺ (ธาตุ = จริง, แท้) + อ ปัจจัย
: ตถ + อ = ตถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จริงแท้” หมายถึง แท้, จริง; โดยแท้, ไม่มุสา (true, real; in truth, truthful)
ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนว่าเป็น “ตถะ” มี 4 อย่าง คืออริยสัจสี่ ตามคำที่ท่านว่า –
(1) ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นของจริงแท้
(2) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นของจริงแท้
(3) นิโรธ ความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้
(4) มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้
(๒) “ตา”
เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต (ตัทธิต เป็นแขนงหนึ่งของบาลีไวยากรณ์ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้ปัจจัยต่อท้ายแล้วมีความหมายต่างๆ กันไป)
“ภาวตัทธิต” (พา-วะ-ตัด-ทิด) คือศัพท์ที่ลงปัจจัยจำพวกหนึ่ง (นอกจาก “ตา” แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก) แล้วแปลว่า “ความเป็น–” เช่น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) = “ความเป็นแห่งธรรม” ที่เราเอามาใช้ว่า “ธรรมดา”
ตถ + ตา = ตถตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งสิ่งที่จริงแท้” หมายถึง ความเป็นเช่นนั้น, การเป็นเช่นเดียวกันนั้น, ความเป็นจริง (state of being such, such-likeness, similarity, correspondence)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ตถตา : ความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นเช่นนั้น, ภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมันอย่างนั้นเอง คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย (มิใช่เป็นไปตามความอ้อนวอนปรารถนา หรือการดลบันดาลของใครๆ) เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกฎ ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา”
“ตถตา” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ ผู้รู้ทางธรรมนำมาใช้อธิบายสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เรียกกันติดปากว่า “ตถตา” แปลสั้นๆ ว่า “เป็นเช่นนั้นเอง”
: รู้ว่าเป็นเช่นนั้น แล้วปล่อยมันทิ้งมัน ไม่รู้ไม่เห็น – ผิด
: รู้ว่าเป็นเช่นนั้น แล้วปฏิบัติต่อมัน อย่างที่มันควรจะเป็น – ถูก
คำเตือน :
อ่านกลอนของท่านอาจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา แล้ว
อย่าลืมอ่าน บาลีวันละคำ วันนี้ด้วย
14-1-59