วินัย (บาลีวันละคำ 768)
วินัย
อ่านว่า วิ-ไน
บาลีเป็น “วินย” อ่านว่า วิ-นะ-ยะ
“วินย” มีรากศัพท์มาจาก วิ ( = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย พฤทธิ์ อี (ที่ นี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: วิ + นี = วินี > (อี เป็น เอ =) วิเน > (เอ เป็น อย =) วินย + อ = วินย แปลตามศัพท์ว่า “อุบายเป็นเครื่องนำไป” หรือ “การนำไปอย่างวิเศษ”
“วินย” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)
ความหมายนี้ดังเช่นข้อความตอนหนึ่งในพระคาถาชินบัญชรที่ว่า –
วาตปิตฺตาทิสญฺชาตา พาหิรชฺฌตฺตุปทฺทวา
โรคภัย อุปัทวะทั้งภายนอกทั้งภายในอันเกิดแต่เหตุมีโรคลมและโรคดีเป็นต้น
อเสสา วินยํ ยนฺตุ อนนฺนตชินเตชสา.
จงถึงวินยะ (= การถูกกำจัดออก, ความหมดสิ้นไป) โดยไม่เหลือ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า
(2) กฎ, วิธีพูดหรือตัดสิน, ความหมาย, วาทวิทยา (วิชาการใช้ถ้อยคำ) (rule, way of saying or judging, sense, terminology)
(3) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)
(4) ประมวลจรรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)
“วินย” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “วินัย” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“วินัย : ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์”
“วินย–วินัย” ตามความหมายที่เข้าใจกันคือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ
: โจรแม้จะมีวินัย ก็ไม่กลายเป็นทหารไปได้
: แต่ทหารที่ไม่มีวินัย กลายเป็นโจรได้
—————–
(ถือวิสาสะเก็บมาจากคำปรารภของ Koson Chopaka)
#บาลีวันละคำ (768)
25-6-57