พระอภัยมณี (บาลีวันละคำ 769)
พระอภัยมณี
นิทานคำกลอนอันลื่อชื่อของสุนทรภู่
มีตัวละครเอกชื่อ “พระอภัยมณี”
“อภัยมณี” แปลว่าอะไร ?
“อภัย” ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ไพ
บาลีเป็น “อภย” อ่านว่า อะ-พะ-ยะ
“อภย” มาจากการประสมระหว่าง น (= ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + ภย (= ความกลัว, ความตกใจกลัว, ความหวาดหวั่น)
กฎการประสมของ น + :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน-
ในที่นี้ “ภย” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ : น > อ + ภย = อภย
“อภย” :
– ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ปลอดจากความกลัวหรืออันตราย, ไม่มีความกลัว, ปลอดภัย (free from fear or danger, fearless, safe)
– ใช้เป็นคำนาม มีความหมายว่า ความไว้วางใจ, ความปลอดภัย (confidence, safety)
“มณี” บาลีเป็น “มณิ” (เป็น “มณี” ก็ได้) อ่านว่า มะ-นิ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “รัตนชาติที่ให้รู้ถึงความมีค่ามาก”
(2) “รัตนชาติเป็นเหตุให้นับถือเครื่องอาภรณ์” (คือเมื่อมีแก้วมณีประดับแล้วก็พลอยทำให้เครื่องแต่งตัวอื่นๆ พลอยดูดีไปด้วย)
(3) “รัตนชาติที่ยังความมืดให้พินาศไป”
อภัย + มณี = อภัยมณี แปลลากเข้าความได้ว่า “แก้วมณีที่ยังให้เกิดความปลอดภัย”
สันนิษฐาน (คือเดา) ที่มาของชื่อ :
(1) ฉากในเรื่องพระอภัยมณีเกี่ยวกับลังกา (ชื่อเดิมของประเทศศรีลังกา) ตลอดทั้งเรื่อง
(2) ลังกามีพระเจ้าแผ่นดินที่โด่งดังมากพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ มีพระนามว่า “วัฏฏคามณีอภัย” (วัด-ตะ-คา-มะ-นี-อะ-ไพ) ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 505–527 (ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนาที่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรครบถ้วนขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก
(3) คำว่า “วัฏฏคามณีอภัย” มาจาก วัฏฏ + คามณี + อภัย
“คามณี” แปลว่า “หัวหน้าหมู่บ้าน” (the head of a company, a chief, a village headman) เป็นคนละคำกับ “มณี” ที่แปลว่า แก้วมณี แต่เมื่ออ่านรวมกันเป็น “คามณีอภัย” ย่อมทำให้เกิดคำว่า “-มณีอภัย” โดยไม่เจตนา
(4) ชื่อเสียงของพระเจ้า “วัฏฏคามณีอภัย” ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ศึกษาพงศาวดาร สุนทรภู่อาจจับเอาคำว่า “(-คา) มณีอภัย” มาแปลงเป็น “อภัยมณี” อีกต่อหนึ่งโดยไม่เจตนาเช่นกัน
คติจากเรื่อง “พระอภัยมณี” :
นักวรรณคดีที่มีชื่อของไทย เช่น อาจารย์เปลื้อง ณ นคร แสดงมติว่า สุนทรภู่ตั้งใจแต่งเรื่องพระอภัยมณีให้จบลงตรงที่เมืองต่างๆ ทำศึกกันจนเหนื่อยล้า แล้วพระโยคีมาเทศน์ให้สงบศึกอันเป็นจุดสุดยอดของรสวรรณคดี ดังคำกลอนในเรื่องพระอภัยมณีบทที่ว่า –
…………..
ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา
ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ
ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น
ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน
……………
: แก้แค้นคือไฟ ให้อภัยคือฝนทิพย์
—————–
(บาลีวันละคำวันนี้-26 มิถุนายน ขอน้อมบูชาคุณ พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกของไทยและของโลก เนื่องใน “วันสุนทรภู่”)
#บาลีวันละคำ (769)
26-6-57