อรหันต์ (บาลีวันละคำ 774)
อรหันต์
อ่านว่า อะ-ระ-หัน
(พจน.54 บอกว่า อ่านว่า ออ-ระ-หัน ก็ได้)
บาลีเป็น “อรหนฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ
คำว่า “อรหนฺต” มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
(1) อรห (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”
(2) น (= ไม่, ไม่ใช่) > อ + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง”
(3) อริ (= ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”
(4) อร (= ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว”
(5) น (= ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห (= การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก
(6) น (= ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห (= ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว”
“อรหนฺต” ในบาลีเมื่อใช้ในข้อความจริง มักเปลี่ยนรูปเป็น “อรหํ” (อะ-ระ-หัง) หรือ “อรหา” (อะ-ระ-หา)
“อรหนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรหันต-, อรหันต์ : ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต)”
“พระอรหันต์” ในความเข้าใจเป็นกลางๆ คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้วด้วยประการทั้งปวง
พระอรหันต์ต้องละกิเลสคือ “สังโยชน์” ครึ่งหลังได้อีก 5 อย่าง ต่อจาก (1) ถึง (5) ที่พระอนาคามีละได้แล้ว กล่าวคือ –
(6) รูปราคะ “ความติดใจในวัตถุ” คือติดใจในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ (greed for fine-material existence; attachment to realms of form)
(7) อรูปราคะ “ความติดใจในนามธรรม” คือติดใจในอารมณ์หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ (greed for immaterial existence; attachment to formless realms)
(8) มานะ “ความสำคัญตน” คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (conceit; pride)
(9) อุทธัจจะ “ความฟุ้งซ่าน” (restlessness; distraction)
(10) อวิชชา “ความไม่รู้จริง” คือความหลงผิด หรือรู้ผิด (ignorance)
พระอรหันต์มี 2 ประเภท คือ –
(1) พระอรหันต์ที่หมดกิเลส แต่มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น
(เรียกว่า พระสุกขวิปัสสก)
(2) พระอรหันต์ที่หมดกิเลส และทรงคุณวิเศษอย่างอื่นด้วย เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ (เรียกว่า พระสมถยานิก)
: สรุปหลักพื้นฐานที่ควรทราบและควรตระหนักเกี่ยวกับพระอริยบุคคล (พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์)
(1) พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามีอาจเป็นคฤหัสค์ครองเรือนก็ได้
(2) คฤหัสถ์ก็สามารถบรรลุธรรมสูงสุดเป็นพระอรหันต์ได้ แต่จะมีคติเป็น 2 คือ (1) หลังจากบรรลุแล้วต้องถือเพศเป็นบรรพชิตในวันนั้น หรือ (2) ดับขันธ์ในวันนั้น
(3) พระอรหันต์ไม่หัวเราะ ไม่ยิ้ม ไม่มีอาการเริงร่าเพราะถูกใจชอบใจเรื่องใดๆ แต่อาจมีกิริยาแย้มเล็กน้อยได้ ส่วนด้านโทสะ แม้เพียงความหงุดหงิดก็ละได้แล้วตั้งแต่เป็นพระอนาคามี
(4) พระอรหันต์ไม่ฝัน เนื่องจากจิตสงบลึก (อาการฝันเกิดในขณะที่หลับไม่สนิท)
(5) พระอรหันต์ไม่เกิดอีก
(6) ท่านผู้ใดเป็นพระอริยบุคคลระดับไหน ผู้เป็นอริยบุคคลระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้นจึงจะรู้ได้บอกได้
(7) ดังนั้น ผู้ที่พูดว่า “หลวงปู่องค์นั้นหลวงพ่อองค์โน้นเป็นอริยสงฆ์” ก็เท่ากับบอกว่าตัวผู้พูดนั้นเป็นอริยบุคคลด้วยนั่นเอง
: แสวงหาพระอรหันต์ไปเจ็ดย่าน
: อย่าลืมพระอรหันต์ในบ้านของตัวเอง
—————-
(ตามคำเสนอแนะของ เมธีวุฒินันทน์ ภาณุภัทรธนวัฒน์)
#บาลีวันละคำ (774)
1-7-57