มูลนิธิ (บาลีวันละคำ 1,333)
มูลนิธิ
ประกอบด้วย มูล + นิธิ
(๑) “มูล”
บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + อ ปัจจัย
: มูลฺ + อ = มูล แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น”
“มูล” ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ –
1 รากไม้ (root)
2 โคน, ก้น (foot, bottom)
3 หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)
4 กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)
5 ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)
6 แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “มูล” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
1 โคน เช่น รุกขมูล
2 ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล
3 เค้า เช่น คดีมีมูล
4 ต้น เช่น ชั้นมูล
5 มวล, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น จัดข้าวของไว้ให้โดยพร้อมมูล เตรียมเอกสารหลักฐานไว้ให้พร้อมมูล
6 อุจจาระสัตว์
7 ขี้หรือเศษของสิ่งต่าง ๆ เช่น มูลไถ = ขี้ไถ
(๒) “นิธิ”
รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบ อา ที่ ธา (ตามสูตรว่า “ลบสระหน้า” เพราะอยู่หน้า อิ ปัจจัย) : ธา + อิ > ธ + อิ
: นิ + ธา = นิธา > นิธ + อิ = นิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรัพย์อันเขาฝังไว้”
“นิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การวางลง, ที่เก็บ; ทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ (setting down, receptacle; hidden treasure)
(2) การใส่, เสื้อคลุม (putting on, a cloak)
มูล + นิธิ = มูลนิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ขุมทรัพย์ที่เป็นต้นทุนเดิม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มูลนิธิ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสําหรับวัตถุประสงค์ เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะวิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว. (ป. มูล + นิธิ).
“มูลนิธิ” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า foundation
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล foundation เป็นบาลีว่า –
(1) pādaka ปาทก (ปา-ทะ-กะ) = สิ่งที่ถูกทำขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นฐานของสิ่งอื่น
(2) mūlapatiṭṭhā มูลปติฏฺฐา (มู-ละ-ปะ-ติด-ถา) = ที่พึ่งพิงอันเป็นรากฐาน
“มูลปติฏฺฐา” กับ “มูลนิธิ” นับว่าใกล้เคียงกันทั้งรูปศัพท์และความหมาย
อภิปราย :
คำว่า “มูลนิธิ” พจน.54 บอกว่าอ่านได้ 2 อย่าง คือ :
1 มูน-ละ-นิ-ทิ
2 มูน-นิ-ทิ
ว่าตามหลัก คำนี้ควรอ่าน มู-ละ-นิ-ทิ ได้อีกแบบหนึ่ง
แต่ที่อ่านว่า มูน-นิ-ทิ (ไม่มี -ละ-) นั้น เป็นคำอ่านที่ผิดหลักการอ่านคำสมาส ที่ พจน.54 รับรองว่าอ่านเช่นนั้นก็ได้เนื่องจากมีคนนิยมอ่านเช่นนั้น
ใน พจน.54 มีคำที่บอกคำอ่านผิดหลักการอ่านคำสมาสอยู่เป็นจำนวนมากโดยเรียกว่าเป็นการอ่านตามความนิยม
ควรช่วยกันอ่านให้ถูกตามหลักภาษา ดีกว่านิยมไปตามคำอ่านที่ผิด
: ช่วยกันแก้ที่ผิดให้ถูก
: ดีกว่าปล่อยให้ผิดกลายเป็นถูก
23-1-59