บาลีวันละคำ

บาทวิถี (บาลีวันละคำ 1,569)

บาทวิถี

อ่านว่า บาด-วิ-ถี (ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย บาท + วิถี

(๑) “บาท

บาลีเป็น “ปาท” (ปา-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปท (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท)

: ปทฺ + = ปทณ > ปท > ปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไป

ปาท” ในบาลีใช้ในความหมาย ดังนี้ –

(1) เท้า (the foot)

(2) เชิงเขาหรือส่วนล่างของภูเขา (foot or base of a mountain)

(3) ส่วนหนึ่งในสี่ของคำร้อยกรองหนึ่งบท (ซึ่งตามปกติมีบทละ 4 บาท) (the fourth part of a verse)

(4) เหรียญที่ใช้ในการซื้อขาย (a coin)

ปาท” ในภาษาไทยใช้ว่า “บาท” (บาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บาท” ไว้ว่า –

(1) ตีน, ราชาศัพท์ว่า พระบาท.

(2) มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท.

(3) ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๑๕ กรัม.

(4) ส่วนหนึ่งของบทแห่งคําประพันธ์ เช่น โคลง ๔ สุภาพ บทหนึ่งมี ๔ บาท.

(5) ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที.

ในที่นี้ “ปาทบาท” หมายถึง เท้า หรือตีน

(๒) “วิถี

บาลีเป็น “วีถิ” (โปรดสังเกต ไทยกับบาลีสลับสระกัน ไทย-วิถี บาลี-วีถิ) รากศัพท์มาจาก วี (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถิ ปัจจัย

: วี + ถิ = วีถิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิถี : (คำนาม) สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี. (ป., ส. วีถิ).”

บาท + วิถี = บาทวิถี

พจน.54 บอกไว้สั้นๆ ตรงตัวว่า –

บาทวิถี : (คำนาม) ทางเท้า.”

บาทวิถี” เป็นศัพท์ที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า footpath

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล footpath เป็นบาลีดังนี้ –

(1) jaṅghamagga ชงฺฆมคฺค (ชัง-คะ-มัก-คะ) = ทางสำหรับเดินไป

(2) ekapadika-patha เอกปทิกปถ (เอ-กะ-ปะ-ทิ-กะ-ปะ-ถะ) = ทางที่เดินไปคนเดียว (หมายถึงเดินตัวเปล่า ไม่ได้แบกหามลากเข็นสัมภาระรุงรังมากมายไปด้วย)

ข้อสังเกต :

คำว่า footpath ถอดเป็นอักษรไทยว่า ฟุตปาธ ( -ปา ธ ธง สะกด) แต่มักมีผู้ถอดอักษรผิดเป็น ฟุตปาท ( -ปา ท ทหาร สะกด) แล้วยังซ้ำมีผู้ออกเสียงคลาดเคลื่อนเป็น ฟุด-บาด แล้วเลยเขียนเป็น “ฟุตบาท” กลายเป็นคำลูกครึ่งซ้ำซ้อนไปอีก เพราะ “ฟุต” แปลว่า เท้าบาท” ก็แปลว่า เท้า

คำว่า path เสียงชวนให้นึกถึง “ปาท” แต่ความหมายเป็นคนละอย่างกัน “ปาท” หมายถึง เท้า แต่ path หมายถึง ทาง

path ถ้าสะกดตามบาลีจะตรงกับ “ปถ” (ปะ-ถะ) แปลว่า ทาง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปถ” ว่า path, road, way

ดังนั้น footpath ถ้าจะทับศัพท์ ก็ต้องเขียนว่า ฟุตปาธ (ป ปลา สระ อา ธง สะกด) ไม่ใช่ “ฟุตบาท

ถ้าจะใช้คำไทย ก็ใช้คำว่า “บาทวิถี

อนึ่ง บางท่านให้ความหมายชี้ชัดลงไปว่า footpath หรือ “บาทวิถี” หมายเฉพาะถึงทางเดินซึ่งยกขึ้นเป็นขอบขนานไปกับถนนเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทางเดินในที่ทั่วไป

…………..

: ยืนอยู่กับที่ดีกว่าเดินทางผิด

: แต่วิสัยบัณฑิตย่อมหาวิธีเดินให้ถูกทาง

————–

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก google ยกเว้นภาพสุดท้าย หยิบฉวยโดยวิสาสะมาจากโพสต์ของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)

20-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย