บาลีวันละคำ

ทฤษฎี (บาลีวันละคำ 1,334)

ทฤษฎี

อ่านว่า ทฺริด-สะ-ดี

บาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” อ่านว่า ทิด-ถิ

ทิฏฺฐิ” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ > ทิ + ติ > ฏฺฐิ : ทิ + ฏฺฐิ = ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก”

ทิฏฺฐิ” ในบาลี เป็น “ทฺฤษฏิ” ในสันสกฤต และเป็น “ทฤษฎี” ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทฤษฎี : (คำนาม) ความเห็น; การเห็น, การเห็นด้วยใจ; ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ. (ส.; ป. ทิฏฺฐิ). (อ. theory).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็น –

ทฤษฎี : (คำนาม) หลักการทางวิชาการที่ได้ข้อสรุปมาจากการค้นคว้าทดลองเป็นต้น เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก ทฤษฎีแสง. (ส.; ป. ทิฏฺฐิ). (อ. theory).”

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล theory เป็นบาลีว่า –

(1) mata มต (มะ-ตะ) = สิ่งที่ถูกเรียนรู้

(2) diṭṭhi ทิฏฺฐิ (ทิด-ถิ) = ความเห็น ตรงกับที่เราใช้ว่า ทฤษฎี

(3) vāda วาท (วา-ทะ) = ถ้อยแถลง, หลักความรู้, ลัทธิคำสอน

: ขาดทฤษฎี ปฏิบัติก็เป๋

: ขาดปฏิบัติ ทฤษฎีก็ว่างเปล่า

24-1-59

ต้นฉบับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *