บาลีวันละคำ

เจ้ากรรมนายเวร (บาลีวันละคำ 779)

เจ้ากรรมนายเวร

บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจ้ากรรมนายเวร : ผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันมาแต่ชาติก่อน, เจ้ากรรม ก็ว่า”

เจ้ากรรมนายเวร” ตามความรู้สึกหรือความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง สิ่งที่มักจะไม่มีตัวตน แต่มีอำนาจบันดาลให้เกิดโทษ เกิดทุกข์ เกิดปัญหาต่างๆ

เคยพบในบทแผ่เมตตา มีคำว่า “เวรี” มีคำแปลว่า “เจ้ากรรมนายเวร

เวรี” มาจากคำว่า เวร (เว-ระ) + อี ปัจจัย

เวร” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่เป็นไปโดยอาการผิดรูป” คือเจตนาปองร้ายอันน่ารังเกียจ

(2) “อารมณ์ที่มีอยู่ในผู้กล้าโดยมาก” (ผู้จองเวรคือผู้กล้าที่จะเสีย)

เวร” แปลตามความหมายว่า ความเกลียด, ความพยาบาท, การเป็นปรปักษ์, ความโกรธ, ความปองร้าย, ความยินร้าย, ความแค้นเคือง, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย, บาป, อกุศล (hatred, revenge, hostile action, sin)

เวร + อี = เวรี แปลว่า “ผู้มีความยินร้ายต่อกัน” หมายถึง ข้าศึก, ศัตรู, ผู้จองเวรกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวรี” เป็นอังกฤษว่า bearing hostility, inimical, revengeful (เป็นศัตรู, เป็นปฏิปักษ์, ผูกพยาบาท)

เวรี” สันสกฤตเป็น “ไวรี” ภาษาไทยใช้เป็น “ไพรี

พจน.54 บอกไว้ว่า “ไพรี : ผู้มีเวร; ข้าศึก”

ทั้ง “เวรี” และ “ไพรี” จะหมายถึง “เจ้ากรรมนายเวร” ได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีความเชื่อ (หรือไม่เชื่อ) ที่แตกต่างกันไป

แนวความคิดเกี่ยวกับ “เจ้ากรรมนายเวร:

(1) ผู้ที่ก่อทุกข์โทษเวรภัยให้แก่กันอาจเป็นมนุษย์ด้วยกัน อมนุษย์ด้วยกัน หรืออมนุษย์กับมนุษย์ก็ได้ (ดูความหมายของคำว่า “อมนุษย์”)

(2) หลักสัจธรรมคือ “ผลเกิดแต่เหตุ” ปัญหาต่างๆ ที่มีผู้เชื่อว่าเกิดจากเจ้ากรรมนายเวรบันดาลให้เป็นไป จึงไม่ตรงกับหลักสัจธรรม

(3) ทุกข์ โทษ ความเดือดร้อนต่างๆ เป็นผลมาจากการกระทำเหตุ การขอร้องต้องการไม่ให้เกิดผล (เช่นขอให้เจ้ากรรมนายเวรบันดาลอย่าให้เกิดผลร้าย หรือขอเลิกแล้วต่อกัน) จึงผิดหลักเหตุผล

(4) การยอมรับผลของการกระทำเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ถูกต้อง ปัจจุบันเราไม่ได้อบรมกันให้รู้จักผิดชอบ จึงมักปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปว่า ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับผิดและไม่ยอมรับโทษอันเกิดจากกระทำผิดของตนเองแท้ๆ

(5) “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นโทษซึ่งเกิดจากการละเมิดศีล 5 (“the fivefold guilty dread” are the fears connected with sins against the 5 first commandments) พระพุทธศาสนาสอนว่า วิธีที่จะไม่ให้เกิดเจ้ากรรมนายเวรก็คืออย่าละเมิดศีล

: อุทิศส่วนบุญให้เจ้ากรรมนายเวร – ดีมาก

: ไม่ละเมิดศีล อันเป็นการสร้างเจ้ากรรมนายเวรซ้ำซาก – ดีที่สุด

#บาลีวันละคำ (779)

6-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *