บาลีวันละคำ

อธิปไตยชื่อแปลกๆ (บาลีวันละคำ 780)

อธิปไตยชื่อแปลกๆ

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของ Koson Chopaka เมื่อ 7 กรกฎาคม 2557 ยกคำที่ อริสโตเติล ใช้ในงานนิพนธ์เรื่อง มิตรภาพ ตาม “ศัพท์ของพ่อก้อน คนรุ่น พ.ศ. 2468 ต้นรัชกาลที่ 7” ในหนังสือ (ดูภาพประกอบ) มาแสดง มีข้อความเป็นคำเรียกอธิปไตยเป็นคำบาลีหลายคำ เห็นว่าเป็นคำที่แปลก แต่น่ารู้ จึงขอยกมาแสดงความหมายทางภาษา ดังนี้ (ในที่นี้ไม่อธิบายคำว่า “อธิปไตย” เพราะเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปแล้ว)

(1) กุลีนาธิปไตย ตรงกับ Aristocracy เป็นวิธีปกครองของเจ้า หรือคนชั้นสูง.

กุลีน + อธิปไตย = กุลีนาธิปไตย

กุลีน มาจาก กุล (= ตระกูล) + อิน ปัจจัย, ทีฆะ อิ เป็น อี = กุลีน แปลว่า ผู้มีสกุล, ผู้สูงศักดิ์, ผู้ดี (descendant of a recognized clan) เรียกตามภาษาปากสมัยนิยมก็น่าจะตรงกับ “ไฮ-โซ”

(2) ธนิกาธิปไตย ตรงกับ Timocracy เป็นวิธีปกครองของพลเมืองที่มีสมบัติและรายได้พอเพียงตามฐานะ.

ธนิก + อธิปไตย = ธนิกาธิปไตย

ธนิก มาจาก ธน + อิก ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้มีความหมายว่า “ผู้มี-” หรือ “ผู้ประกอบด้วย-”) = ธนิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีทรัพย์” แต่ใช้ในความหมายว่า เจ้าหนี้ (a creditor) คำที่เข้าใจกันง่ายๆ คือ คนมีเงิน พวกเศรษฐี หรือภาษาปากว่า “คนมีกะตังค์”

(3) ทารุณาธิปไตย ตรงกับ Tyranny เป็นวิธีปกครองของกษัตริย์ที่ไม่เห็นแก่ทศพิธราชธรรมและโหดร้าย.

ทารุณ + อธิปไตย = ทารุณาธิปไตย

ทารุณ มาจาก ทรฺ (ธาตุ = ทำลาย) + อุณ ปัจจัย, ทีฆะต้นธาตุ = ทารุณ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันคนกลัว” หมายถึง แข็งแรง, มั่นคง, หนัก, รุนแรง, ดุร้าย, ไม่มีความเมตตาสงสาร (strong, firm, severe; harsh, cruel, pitiless)

(4) อัลปชนาธิปไตย ตรงกับ Oligarchy เป็นวิธีปกครองที่อำนาจตกอยู่แก่คนสองสามคน.

อัลปชน + อธิปไตย = อัลปชนาธิปไตย (อ่านว่า อัน-ละ-ปะ-ชะ-นา-)

อัลปชน คือ อัลป + ชน

อัลป บาลีเป็น “อปฺป” (อับ-ปะ) สันสกฤตเป็น “อลฺป” (แบบเดียวกับ กปฺป = กลฺป, สิปฺป = ศิลป)

อปฺปอลฺป” แปลว่า เล็กน้อย, ส่วนน้อยนิด (a little, a small portion)

(5) พศกาธิปไตย ตรงกับ Democracy เป็นวิธีปกครองด้วยอำนาจอยู่แก่ประชาราษฎร์, คล้ายประชาธิปไตยมาก, จะว่าเหมือนกันก็ได้. แต่พศกาธิไตย, จะมีกษัตริย์เป็นประมุขก็ได้, เช่นการปกครองของรัฐบาลอังกฤษเดี๋ยวนี้.

พศก + อธิปไตย = พศกาธิปไตย (คำนี้ควรอ่านว่า พะ-สก-กา-ทิ-ปะ-ไต)

พศก บาลีเป็น “วสก” (วะ-สะ-กะ) แต่ผู้รู้ท่านว่า มาจาก “วสค” (วะ-สะ-คะ) แล้วกลายเสียงเป็น “วสก” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในอำนาจ” หมายถึง อยู่ในอำนาจ, ต้องอาศัย, อยู่ในบังคับ (being in one’s power, dependent, subject)

คำที่เราคุ้นกันดีก็คือ “พสกนิกร

พจน.54 บอกไว้ว่า –

พสก, พสก– : ชาวเมือง, พลเมือง. (ป. วส + ค; ส. วศ + ค ว่า ผู้อยู่ในอํานาจ)”

: อธิปไตยแบบไหนๆ ก็ไร้ค่า

: ถ้าไม่ทำใจให้เป็นใหญ่เหนือกิเลส

——————–

(ขอบคุณภาพและโพสต์ของ Koson Chopaka มา ณ ที่นี้)

#บาลีวันละคำ (780)

7-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *