ประมาณ (บาลีวันละคำ 1,851)
ประมาณ
ประมาณกันพร่ำเพรื่อ
อ่านว่า ปฺระ-มาน
“ประมาณ” บาลีเป็น “ปมาณ” (ปะ-มา-นะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มา (ธาตุ = นับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ป + มา = ปมา + ยุ > อน = ปมาน > ปมาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” “วิธีอันเขานับ”
“ปมาณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน (measure, size, amount)
(2) เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา (measure of time, compass, length, duration)
(3) อายุ = “โลกิยลักษณะ” (age = “worldly characteristic”)
(4) ขอบเขต (limit)
(5) มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ (standard, definition, description, dimension)
บาลี “ปมาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมาณ : (คำนาม) ‘ประมาณ,’ มูล, เหตุ; เขตต์; พิสูจน์, หลักฐาน, อธิการหรือศักติ์; ปริมาณ, กำหนดมากน้อย; เวทหรือธรรมศาสตร์; ผู้กล่าวความจริง; นามพระวิษณุ; cause, motive; limit; proof, testimony, authority; measure, quantity; a scripture or work of sacred authority; speaker of the truth; a title of Vishṇu; – ค. นิตย์, นิรันดร; มุขย์, มหัตหรือมหันต์; eternal; principal, capital.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประมาณ : (คำกริยา) กะหรือคะเนให้ใกล้เคียงจำนวนจริงหรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).”
หลักการใช้ :
คำว่า “ประมาณ” เมื่อใช้เกี่ยวกับการบอกจำนวนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีหลักการใช้ดังนี้ –
๑. ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่นอนได้
๒. ตัวเลขหรือจำนวนที่ประมาณต้องเป็นจำนวนเต็ม หรือที่เรียกกันว่า “ตัวเลขกลมๆ” คือ จำนวนสิบ จำนวนร้อย จำนวนพัน เป็นต้น โดยไม่มีจำนวนที่เป็นเศษต่อท้าย
๓. กรณีที่ระบุตัวเลขที่แน่นอนได้ ไม่ต้องใช้คำว่า “ประมาณ”
ตัวอย่าง –
– ในประเทศไทยมีวัดประมาณ 30,000 วัด | ✔ถูก
เหตุผล: 30,000 เป็นตัวเลขกลมๆ ไม่มีเศษ ไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอน จึงต้อง “ประมาณ”
– ในประเทศไทยมีวัดประมาณ 32,125 วัด | ꭕผิด
เหตุผล: 32,125 เป็นตัวเลขที่แน่นอนแล้ว (ถ้าไม่แน่นอนจะระบุอย่างนี้ไม่ได้) จึงไม่ต้อง “ประมาณ” แต่บอกไปตรงๆ ได้เลยว่า
– ในประเทศไทยมีวัด 32,125* วัด
…………..
อภิปราย :
มีเสียงบ่นว่า สื่อมวลชนใช้คำว่า “ประมาณ” พร่ำเพรื่อ หมายถึงสื่อมวลชนไม่เข้าใจว่ากรณีอย่างไรจึงควรใช้ “ประมาณ” และกรณีอย่างไรไม่ต้องใช้คำว่า “ประมาณ”
เรื่องนี้เข้าใจว่ามีสาเหตุมาจากการเข้าใจหรือตีความคำว่า “ประมาณ” แตกต่างกัน กล่าวคือ –
๑. ความหมายเดิม “ประมาณ” หมายถึง ไม่สามารถระบุตัวเลขหรือจำนวนที่แท้จริงลงไปตรงๆ ได้ จึงต้องบอกเพียงจำนวนประมาณ คือ จำนวนสิบ จำนวนร้อย จำนวนพัน เป็นต้น โดยไม่มีจำนวนที่เป็นเศษต่อท้าย
= ต้องประมาณ เพราะไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนได้
๒. ความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ “ประมาณ” หมายถึง ตัวเลขจำนวนใดๆ ก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร แต่ตัวเลขนั้นยังไม่แน่นอนว่าจะถูกต้องตามเป็นจริงหรือไม่ จึงต้องประมาณ
= ต้องประมาณ เพราะจำนวนที่ระบุยังไม่แน่นอนว่าจะถูกต้องหรือไม่
ข้อสังเกต :
การใช้คำว่า “ประมาณ” ตามความเข้าใจของคนรุ่นใหม่นั้นมีข้อแย้งได้มาก เช่นในคำว่า “หญิงอายุประมาณ 33 ปี”
ถ้ายังไม่แน่นอนว่าอายุจริงๆ คือเท่าไร แล้วทำไมจึงระบุลงไปว่า 33 เอาตัวเลข 33 มาจากไหน?
ถ้าตอบว่า ก็ “ประมาณ” เอาอย่างไรเล่า
ก็ต้องถามอีกว่า ทำไมจึงไม่ประมาณ 32 หรือ 34 หรือ 31 หรือ 35 เล่า
ทำไมจึงประมาณเฉพาะ 33 เล่า ในเมื่อทุกจำนวนก็ล้วนแต่ยังไม่แน่นอนทั้งสิ้น
ทำไมจึงไม่ศึกษาให้เข้าใจชัดแจ้งว่า คำว่า “ประมาณ” นี้มีหลักการใช้ว่าอย่างไร
กรณีเช่นนี้ทำให้นึกถึงคำว่า “จำวัด” ความหมายเดิมคือ “พระนอนหลับ” แต่คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาให้เข้าใจชัดแจ้ง ไปตั้งความเข้าใจเอาเองว่า “จำวัด” คือ “อยู่ประจำวัด” แล้วดันทุรังใช้ไปตามที่ตนเข้าใจอยู่ในทุกวันนี้ จนคำผิดกำลังจะกลายเป็นคำถูก
หลักวิชา ถ้าไม่ศึกษาถ่ายทอดไว้ให้แม่นยำ ย่อมเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน และอาจนำไปสู่ความวิบัติได้ในที่สุด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าใช้ชีวิตอย่างประมาท
: ก็จะมีแต่ความพินาศเป็นประมาณ
—————
*32,125 วัด เป็นจำนวนสมมุติ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
4-7-60