วาสนาบารมี (บาลีวันละคำ 782)
วาสนาบารมี
(บาลีไทย)
อ่านว่า วาด-สะ-หฺนา-บา-ระ-มี
เป็นการเอาคำว่า “วาสนา” กับ “บารมี” มาพูดรวมกัน
“วาสนา” บาลีอ่านว่า วา-สะ-นา รากศัพท์มาจาก –
(1) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ยุ ปัจจัย + อา (ปัจจัยอิตถีลิงค์), ทีฆะต้นธาตุ คือ อ ที่ ว– เป็น อา, แปลง ยุ เป็น อน
: วสฺ > วาส + ยุ > อน = วาสน + อา = วาสนา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่ในจิต”
(2) วาสฺ (ธาตุ = อบ, บ่ม) + ยุ ปัจจัย + อา (ปัจจัยอิตถีลิงค์), แปลง ยุ เป็น อน
: วาส + ยุ > อน = วาสน + อา = วาสนา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาบ่มเพาะมา”
ขยายความว่า กิริยาอาการหรือลักษณะการพูดจาเป็นต้น ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษหรือเฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตหรือได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานาน ถึงข้ามภพข้ามชาติ จนเคยชินติดเป็นพื้นนิสัยประจำตัวและแก้ไม่หายทั้งๆ ที่จิตเจตนามิได้ต้องการเป็นเช่นนั้น เช่น กิริยาเรียบร้อยหรือหลุกหลิก คำพูดกระโชกโฮกฮากหรือนุ่มนวล คำติดปากที่หยาบหรือสุภาพ เป็นต้น เหล่านี้บาลีเรียกว่า “วาสนา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วาสนา” ว่า that which remains in the mind, tendencies of the past, impression (สิ่งที่เหลืออยู่ในใจ, แนวโน้มของอดีต, ความฝังใจหรือประทับใจ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาสนา : บุญบารมี, กุศลที่ทําให้ได้รับลาภยศ, เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง, มักใช้เข้าคู่กับคำ บุญ หรือ บารมี เป็น บุญวาสนา หรือ วาสนาบารมี เช่น เป็นบุญวาสนาของเขา เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก”
“บารมี” บาลีเป็น “ปารมี” อ่านว่า ปา-ระ-มี
ความหมายที่เด่นของ “ปารมี” คือ “ภาวะที่ทำให้เต็ม” แต่ “ปารมี” ยังมีคำแปลตามศัพท์อีกหลายความหมาย คือ –
(1) ภาวะหรือการกระทำของผู้ประเสริฐ
(2) ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุด
(3) ข้อปฏิบัติที่หมดจดอย่างยิ่งจากมลทินคือสังกิเลส
(4) ข้อปฏิบัติที่รู้ถึงโลกหน้าได้ด้วยญาณวิเศษเหมือนรู้โลกนี้
(5) ข้อปฏิบัติที่ใส่กลุ่มความดีมีศีลเป็นต้นไว้ในสันดานตนอย่างดียิ่ง
(6) ข้อปฏิบัติของผู้เบียดเบียนศัตรูคือหมู่โจรกิเลส
(7) ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานและยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน
ในบาลี “ปารมี” หมายถึงคุณธรรมที่ยังความเป็นพระพุทธเจ้าให้สำเร็จ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้สมบูรณ์เพียบพร้อมจึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปารมี” ว่า completeness, perfection, highest state (ความสมบูรณ์, ความเต็มเปี่ยม, สถานะอันสูงสุด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บารมี : คุณความดีที่ควรบําเพ็ญมี ๑๐ อย่าง คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกจากกาม คือ บวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา เรียกว่า ทศบารมี; คุณความดีที่ได้บําเพ็ญมา, คุณสมบัติที่ทําให้ยิ่งใหญ่, เช่นว่า ชมพระบารมี พระบารมีปกเกล้าฯ พ่ายแพ้แก่บารมี”
ในภาษาไทย เอาคำว่า “วาสนา” กับคำว่า “บารมี” มาพูดรวมกันเป็น “วาสนาบารมี” หมายถึง สิ่งที่บุคคลสั่งสมอบรมมาแต่ในอดีตส่งผลให้เป็นคนสมบูรณ์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับสังคมหรือคนหมู่มากทำให้มีคนเคารพ นับถือ เชื่อฟัง ยำเกรง สามารถนำหมู่คณะไปในทางที่ประสงค์ได้สำเร็จ
ในคัมภีร์ ไม่พบคำว่า “วาสนาปารมี” ที่ใช้รวมกันอย่างในภาษาไทย
ข้อสังเกต :
(1) “วาสนา” ในความหมายเดิมใช้ทั้งในทางดีและในทางร้าย แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะสั่งสมมาทางไหน แต่ในภาษาไทย “วาสนา” มักเข้าใจกันแต่ในทางดี
(2) ส่วน “บารมี” ในความหมายเดิมใช้ในทางดีล้วนๆ ทางร้ายไม่เรียกว่าบารมี แต่ในภาษาไทย “บารมี” อาจใช้ทั้งในทางดีและในทางร้าย
เจ้าพ่อทำผิดกฎหมายโดยไม่ต้องรับโทษ ก็เรียกกันว่าเป็นคนมีบารมี
วาสนาบารมีเหมือนต้นทุน –
: ใช้ทำบาป ก็ขาดทุน
: ใช้ทำบุญ ก็ได้กำไร
(ตามคำขอของ Thipakarn Prapharat)
#บาลีวันละคำ (782)
9-7-57