บาลีวันละคำ

จำพรรษาไม่ใช่จำวัด (บาลีวันละคำ 785)

จำพรรษาไม่ใช่จำวัด

คำว่า “จำพรรษา” ในภาษาบาลีมีคำที่ใช้อยู่ 2 คำ คือ –

(1) “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” มาจาก วสฺส (= ฤดูฝน) + อุป (= เข้าไป, ใกล้) + นี (ธาตุ = นำไป) + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: วสฺส + อุป = วสฺสูป + นี > เน > นาย = วสฺสูปนาย + อิก = วสฺสูปนายิก + อา = วสฺสูปนายิกา (ติถี) เขียนแบบไทยว่า “วัสสูปนายิกาดิถี” แปลว่า “วันเข้าพรรษา” เป็นคำเรียกเฉพาะวันเข้าพรรษา (คือวันนี้) เพียงวันเดียว

(2) “วสฺสูปวาส” (วัด-สู-ปะ-วา-สะ) คำกริยาว่า วสฺสํ อุปวสติ (วัด-สัง อุ-ปะ-วะ-สะ-ติ) มาจาก วสฺส (= ฤดูฝน) + อุป (= เข้าไป, ใกล้) + วาส (= การอยู่)

: วสฺส + อุป = วสฺสูป + วาส = วสฺสูปวาส เขียนแบบไทยว่า “วัสสูปวาส” (วัด-สู-ปะ-วาด) แปลว่า “การเข้าจำพรรษา” หมายถึงการพักอยู่กับที่ตลอดฤดูฝน ตรงกับที่เราพูดว่า “จำพรรษา

คำว่า วัสสูปนายิกาดิถี และ วัสสูปวาส ไม่เป็นที่คุ้นปากคุ้นหู และไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

เรื่องที่ควรสังเกตก็คือ เวลานี้มีผู้ใช้คำว่า “จำวัด” ในที่ที่หมายถึง “จำพรรษา” กันมากขึ้น เช่น “ปีนี้พระมหาทองย้อยจำวัดอยู่ที่วัดมหาธาตุ

จำพรรษา” พจน.54 บอกไว้ว่า “อยู่ประจําที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์)”

พระสงฆ์สมัยพุทธกาลนิยมจาริกประกาศธรรมหรือแสวงหาสถานที่ที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อถึงฤดูฝนมีพุทธบัญญัติให้พักอยู่กับที่ (ตามกฎเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) ออกพรรษาแล้วก็จาริกต่อไป นี่คือต้นเหตุที่กล่าวว่า จำพรรษาคือ “อยู่ประจําที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน”

แต่ปัจจุบันพระสงฆ์ไม่ได้จาริกไปในที่ไหนๆ ทั้งก่อนเข้าพรรษาและหลังออกพรรษาก็คงอยู่ที่เดิม เพราะมีที่อยู่ประจำ คำว่า “จำพรรษา” จึงหมายรวมถึงการอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งด้วย

ส่วนคำว่า “จำวัด” พจน.54 บอกไว้ว่า “นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร)”

ดังนั้น “จำวัด” จึงไม่ได้หมายถึงอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง ตามที่มีผู้ใช้นำและใช้ตามกันผิดๆ

: การทำผิด ยังไม่ใช่ความผิดที่แท้จริง

: การที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับว่าผิด หรือไม่ลด เลิก ละ นั่นต่างหากที่ใช่

#บาลีวันละคำ (785)

12-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *