บรรพสตรี [1] (บาลีวันละคำ 1,348)
บรรพสตรี [1]
คำที่ไม่คิดว่าจะมีในพจนานุกรม
อ่านว่า บัน-พะ-สัด-ตฺรี , บัน-พะ-สะ-ตฺรี
ประกอบด้วย บรรพ + สตรี
(๑) “บรรพ” (บัน-พะ-)
บาลีเป็น “ปุพฺพ” รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น บุพ– หรือ บุพพ– ก็มี ใช้อิงสันสกฤตโดยแผลงเป็น บรรพ– เช่นในคำนี้ และเขียนเป็น บรรพ์ (การันต์ที่ พ) ก็มี
(๒) “สตรี”
บาลีเป็น “อิตฺถี” (อิด-ถี) รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, ชอบใจ) + ถี ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น ตฺ, นัยหนึ่งลง ตฺถี ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (อิสฺ > อิ)
: (1) อิสฺ + ถี = อิสฺถี > อิตฺถี
: (2) อิสฺ + ตฺถี = อิสฺตฺถี > อิตฺถี
“อิตฺถี” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ปรารถนาชาย” (2) “ผู้อันชายปรารถนา” (3) “ผู้ทำให้ชายปรารถนา”
อิตฺถี สันสกฤตเป็น “สฺตฺรี” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “สตรี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สตรี : (คำนาม) ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับ บุรุษ, (ใช้ในลักษณะที่สุภาพ). (ส.; ป. อิตฺถี, ถี).”
บรรพ + สตรี = บรรพสตรี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรพสตรี : (คำนาม) หญิงผู้เป็นต้นวงศ์.”
อภิปราย :
๑ คำที่หมายถึง “ผู้เป็นต้นวงศ์” คำเดิมคือ “บรรพบุรุษ” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บรรพบุรุษ : (คำนาม) ผู้เป็นต้นวงศ์ตระกูลซึ่งมีผู้สืบสายโลหิตมา, บุคคลที่นับตั้งแต่ปู่ย่าตายายขึ้นไป.”
โปรดสังเกตว่า คำนิยาม “บรรพบุรุษ” บอกว่า “ผู้เป็นต้นวงศ์..” ไม่ได้บอกว่า “ชายผู้เป็นต้นวงศ์..” เป็นอันครอบคลุมได้ทั้งบุรุษและสตรีอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่ต้องแยกไปเรียกเป็น “บรรพสตรี” อีกคำหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง ตามหลักนิยมของมนุษย์ ท่านว่า “บุรุษ” เป็นต้นวงศ์ “สตรี” เป็นต้นวงศ์ไม่ได้
๒ พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “บรรพบุรุษ” เป็นภาษาอังกฤษว่า a primogenitor, an ancestor, a forefather
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลภาษาอังกฤษทั้ง 3 คำนั้นเป็นบาลีว่า –
(1) ādipurisa อาทิปุริส (อา-ทิ-ปุ-ริ-สะ) = คนที่เป็นต้นเดิม
(2) pubbapurisa ปุพฺพปุริส (ปุบ-พะ-ปุ-ริ-สะ)= คนที่มีมาก่อน
(3) mūlapurisa มูลปุริส (มู-ละ-ปุ-ริ-สะ) = คนที่เป็นรากเหง้า
“ปุพฺพปุริส” ตรงกันกับ “บรรพบุรุษ” ในภาษาไทย ศัพท์นี้มีใช้ในคัมภีร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุพฺพปุริส” ว่า ancestor
๓ “บรรพสตรี” เทียบกลับเป็นบาลีจะได้รูปศัพท์เป็น “ปุพฺพิตฺถี” (ปฺพฺพ + อิตฺถี) ยังไม่พบว่ามีศัพท์เช่นนี้ใช้ในคัมภีร์
๔ ปุริส = บุรุษ มีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึง “ผู้ชาย”
(2) ความหมายในวงกว้างหมายถึง “มนุษย์” หรือ “คน” ไม่จำกัดว่าชายหรือหญิง
โปรดสังเกตเทียบคำว่า man ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า “ผู้ชาย” แต่ในวงกว้าง man แปลว่า “มนุษย์” หรือ “คน”
๕ คำแสดงว่า “ปุริส” หมายถึง “คน” เช่น –
– สปฺปุริส = สัตบุรุษ, คนมีคุณค่า (a good, worthy man)
– กาปุริส = คนเลวทราม (a contemptible man)
– กิมฺปุริส = “คนอะไร” = คนป่าเถื่อน (“whatever man”, a wild man of the woods)
– ปุริสทมฺมสารถิ = นายสารถีผู้ฝึกบุรุษ (guide of men who have to be restrained) (ข้อหนึ่งในพระพุทธคุณ)
– ปุริสปุคฺคล =บุคคล, ผู้ที่เป็นคน (a man, a human character) (คำหนึ่งในสังฆคุณ)
๖ พุทธภาษิตที่ว่า “วายเมเถว ปุริโส” ต้องแปลว่า “เป็นคนควรพยายามร่ำไป” ไม่ใช่ “เป็นชายควรพยายามร่ำไป” เพราะพุทธภาษิตบทนี้สอนทั้งชายและหญิง นั่นคือสอน “คน” = ปุริโส ไม่ได้สอนเฉพาะบุรุษ
: เพศ ไม่ใช่เส้นแบ่งเขตการทำความดี
: บุรุษหรือสตรีบรรลุธรรมได้เท่ากัน
———–
(ในโอกาสเทศกาลไหว้ “บรรพบุรุษ” ซึ่งไม่ใช่ไหว้เฉพาะบุรุษ)
7-2-59