พันธนาคาร (บาลีวันละคำ 1,352)
พันธนาคาร
อ่านว่า พัน-ทะ-นา-คาน
ประกอบด้วย พันธน + อคาร
(๑) “พันธน”
บาลีเขียน “พนฺธน” อ่านว่า พัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: พนธฺ + ยุ > อน = พนฺธน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขาผูกไว้” “วัตถุเป็นเครื่องผูก”
นักเรียนบาลีแปล “พนฺธน” ว่า เครื่องผูก แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ไว้อีกหลายอย่าง คือ –
(1) binding, bond, fetter (เครื่องผูก, เครื่องมัด, เครื่องรัด)
(2) tying, band, ligature; tie, binding (การมัด, การผูก, การพัน, ผ้าหรือเชือกพันหรือรัดแผล, เครื่องผูกพัน)
(3) holding together, composition, constitution; composition of literature (การยึดถือไว้ด้วยกัน, การประกอบ, การก่อตั้ง; การประพันธ์)
(4) joining together, union, company (การรวมกัน, หมู่หรือบริษัท)
(5) handle (ด้าม)
(6) piecing together (การปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน)
(7) strap (สายรัด)
(๒) “อคาร”
บาลีอ่านว่า อะ-คา-ระ (ศัพท์นี้บาลีเป็น “อาคาร” ก็มี) รากศัพท์มาจาก อค (สิ่งที่ไม่ไป, สิ่งที่ไปไหนไม่ได้) + รา (ธาตุ = ถือเอา, ยึดไว้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ทีฆะ อะ ที่ (อ)-ค เป็น อา (อค > อคา), ลบ อา ที่สุดธาตุ (รา > ร)
: อค + รา = อครา + กฺวิ = อครากฺวิ >อคารากฺวิ > อคารา > อคาร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ยึดเสาไว้ไม่ให้ไป” หมายความว่า เสา ฝา หลังคา และเครื่องประกอบต่างๆ ถูกยึดไว้ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ที่ตรงนั้นจึงชื่อว่า “อคาร”
ภาษาบาลีเป็น “อคาร” แต่ในภาษาไทยใช้ว่า “อาคาร” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อาคาร : เรือน, โรง, สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น. (ป., ส. อาคาร, อคาร).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อคาร” ว่า house or hut (บ้าน หรือกระท่อม)
พนฺธน + อคาร = พนฺธนาคาร > พันธนาคาร แปลตามศัพท์ว่า “เรื่อนที่ต้องอยู่ด้วยการจองจำ” หมายถึง เรือนจำ หรือคุก (“fetter-house,” prison)
อภิปรายสนุกนึก :
นักจินตนาการทางภาษาเห็นว่า “พันธนาคาร” แปลว่า เรือนจำ จึงแถลงความเห็นว่า “ธนาคาร” น่าจะมาจากคำว่า “พันธนาคาร” นี่เอง โดยอธิบายเตลิดเพลิดเพลินไปว่า พันธนาคารเป็นที่ขังคนเหมือนธนาคารเป็นที่ขังเงิน
: เงินทำให้ติดคุกได้
: แต่เงินก็ทำให้ไม่ต้องติดคุกได้ด้วย
11-2-59