บาลีวันละคำ

สังฆมติ (บาลีวันละคำ 1,356)

สังฆมติ

อ่านว่า สัง-คะ-มะ-ติ

ประกอบด้วย สังฆ + มติ

(๑) “สังฆ

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

(๒) “มติ

รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ

: มนฺ + ติ = มนติ > มติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มติ : ความเห็น, ความคิดเห็น, เช่น ที่ประชุมลงมติ มติของข้าพเจ้า, ความรู้; ข้อวินิจฉัยญัตติที่เสนอต่อที่ประชุม”

สังฆ + มติ = สังฆมติ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็นของสงฆ์

สังฆมติ” เป็นคำที่นำมาใช้เรียกความคิด ความเห็น ความต้องการ ข้อเสนอ ของพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่ยื่นต่อรัฐบาลหลายเรื่อง ในการชุมนุมที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559

: ถ้าจะไม่ให้บัณฑิตตำหนิ

: วิธีแสดงสังฆมติต้องไม่ทิ้งธรรมวินัย

15-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย