นัชชา (บาลีวันละคำ 1,373)
นัชชา
ชื่อเฉพาะที่วิเคราะห์ไม่ง่าย
“นัชชา” อ่านว่า นัด-ชา รูปคำอาจ “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” เป็นภาษาบาลีได้
ในคัมภีร์หลายแห่งมีข้อความว่า –
“นชฺชา เนรญฺชราย ตีเร” (นัชชา เนรัญชรายะ ตีเร)
แปลว่า “แทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา”
“นชฺชา” ศัพท์เดิมเป็น “นชฺช” (นัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก นที (แม่น้ำ) + โย วิภัตติ
(๑) “นที” รากศัพท์มาจาก –
1) นทฺ (ธาตุ = ส่งเสียงไม่ชัดเจน) + อ ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นทฺ + อ = นท + อี = นที แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงทุกขณะ”
2) นทฺ (ส่งเสียง) + อิ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นท + อิ = นทิ + อี = นที แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงไปพลาง” (ไหลไปด้วย ส่งเสียงไปด้วย)
(๒) นที + โย (วิภัตตินามที่หนึ่ง พหูพจน์), ลบ โย, แปลง อี ที่ นที เป็น ย (นที > นทฺย), แปลง ทฺย (ที่ นทฺย) เป็น ชฺช
: นที + โย = นทีโย > นที > นทฺย > นชฺช แปลว่า “แม่น้ำทั้งหลาย”
“นชฺช” แจกรูปด้วยวิภัตตินามที่หกเป็น “นชฺชา” แปลว่า “แห่งแม่น้ำ” (แทบฝั่งแห่งแม่น้ำ)
อภิปราย:
๑ นชฺชา > นัชชา ถ้าเป็นคำบาลีสามัญก็มีที่มาดังว่านี้
แต่ถ้าเป็นชื่อคน (proper name) จะเป็นภาษาอะไรและแปลว่าอะไร ย่อมขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อ
ถ้าเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อก็ไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไรและแปลว่าอะไร เพียงแต่เห็นว่ารูปคำแปลกดี เสียงก็ฟังดูดี จึงเอามาตั้งเป็นชื่อ (ปัจจุบันเป็นแบบนี้กันมาก) ก็ต้องนับว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในภาษาไทย
๒ มีชื่อหนึ่ง สะกดว่า “ณัฐชา” แปลว่า “ผู้เกิดจากนักปราชญ์” คำนี้ควรอ่านว่า นัด-ถะ-ชา แต่อาจมีคนอ่านตามความสะดวกปากว่า นัด-ชา
คนที่ฟังเสียง นัด-ชา (จากคำ “ณัฐชา”) อาจไม่ทราบว่าสะกดอย่างไร จึงสะกดไปตามความเข้าใจของตน “ณัฐชา” จึงกลายเป็น “นัชชา” ไปก็ได้
นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด “คำพ้องเสียง” ขึ้นในภาษาไทย
จึงเป็นบทเรียนว่า ได้ยินแต่เสียงอย่าเพิ่งไว้ใจว่าจะตรงกับที่เราคิด
: อย่าไว้ใจคำ
: เช่นเดียวกับที่-อย่าไว้ใจคน
————
(ตามคำรบกวนของ ไพศาล อุ่นอุรา)
3-3-59