ขณะ (บาลีวันละคำ 1,372)
ขณะ
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
“ขณะ” ภาษาไทยอ่านว่า ขะ-หฺนะ
บาลีเขียน “ขณ” อ่านว่า ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ขณฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ ปัจจัย
: ขณ+ อ = ขณ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์”
(2) ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, ลบ อี ที่ ขี ตามสูตร “ลบสระหน้า” (ขี + ยุ, ขี อยู่หน้า ยุ อยู่หลัง)
: ขี + ยุ > อน = ขีน > ขีณ > ขณ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่สิ้นไปแห่งอายุของเหล่าสัตว์”
“ขณ” หมายถึง ครู่หนึ่ง, เวลาชั่วครู่ (a short moment, wink of time)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขณะ : (คำนาม) ครู่, ครั้ง, คราว, เวลา, สมัย. (ป.; ส. กษณ).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กฺษณ : (คำนาม) พิกัดเวลา (เท่ากับสามสิบกลาหรือสี่นาที); เวลาครู่หนึ่ง; งารสมโภชหรือฉลอง; เวลาว่างกิจ; โอกาศ; ความขึ้นแก่; ศูนย์กลาง, กลาง; a measure of time (equal to thirty Kalās or four minutes); a moment; a festival; vacation, leisure, opportunity; dependence or servitude; the centre, the middle;- (กริยาวิเศษณ์) สักครู่หนึ่ง; for a moment.”
: ขณ > ขณะ > ครู่หนึ่ง ยาวนานแค่ไหน ?
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงไว้ว่า –
“ทสหิ อจฺฉราหิ องฺคุลิโผฏฺเฐหิ ลกฺขิโต กาโล ขโณ นาม = เวลาที่กำหนดด้วยการดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง ชื่อว่าขณะ”
ลองนึกถึงภาพคนดีดนิ้วมือเข้ากับจังหวะเพลง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเร็วหรือช้า อึดใจเดียวก็ 10 ครั้งแล้ว
แต่ในทางธรรม ท่านแสดงละเอียดยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ จิต คือความคิดที่เกิดขึ้น 1 ขณะ ประกอบด้วย 3 อนุขณะ (ขณะย่อย) คือ –
(1) อุปปาทขณะ = ขณะที่เกิดขึ้น (arising; genesis)
(2) ฐิติขณะ = ขณะที่ดำรงอยู่ (duration; static moment; the moment of standing)
(3) ภังคขณะ = ขณะที่ดับไป (dissolution; cessation; dissolving or waning moment)
รวม 3 อนุขณะ (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) หมุนเวียนเรื่อยไป นับเป็น 1 ขณะ ของจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาที่รวดเร็วนักหนา
เพราะฉะนั้น –
: อย่าลังเลที่จะทำบุญ
: เพราะชีวิตกำลังขาดทุนอยู่ทุกขณะ
2-3-59