บาลีวันละคำ

อุดมคติ (บาลีวันละคำ 1,382)

อุดมคติ

อ่านว่า อุ-ดม-มะ-คะ-ติ ก็ได้

อ่านว่า อุ-ดม-คะ-ติ (ไม่มี -มะ-) ก็ได้

(ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย อุดม + คติ

(๑) “อุดม

บาลีเป็น “อุตฺตม” (อุด-ตะ-มะ) รากศัพท์มาจาก อุพฺภ (ยอด, เหนือ) + ตม ปัจจัย, ลบ พฺภ (อุพฺภ > อุ), ซ้อน ตฺ

: อุพฺภ > อุ + ตฺ + ตม = อุตฺตม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่ายอด” เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า อย่างที่สุด, สูงสุด, ใหญ่ที่สุด, ดีที่สุด (utmost, highest, greatest, best)

(๒) “คติ” (คะ-ติ)

รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป”  “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ว่า –

(1) going, going away (การไป, การจากไป)

(2) direction, course, career (ทิศทาง, แนว, ทางไป, วิถีชีวิต)

(3) passing on (การผ่านไป)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

ในที่นี้ “คติ” หมายถึง แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง

อุตฺตม + คติ = อุตฺตมคติ > อุดมคติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุดมคติ : (คำนาม) จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน.”

อุดมคติ” เป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) จากคำอังกฤษว่า ideal

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล ideal เป็นบาลีว่า –

paramattha ปรมตฺถ (ปะ-ระ-มัด-ถะ) ความมุ่งหมายที่สูงสุด

ชาวตะวันตกที่ศึกษาพระพุทธศาสนาสรุปไว้ว่า the highest ideal, i. e. Arahantship (อุดมคติของชาวพุทธ คือ ความเป็นพระอรหันต์)

: ไปอย่างคนไม่เห็นทางข้างหน้า

: ดีกว่าใจไม่กล้า ทั้งๆ ที่มองเห็นทาง

12-3-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย