บาลีวันละคำ

บาลีโคก (บาลีวันละคำ 1,387)

บาลีโคก

คำว่า “บาลีโคก” เป็นภาษาปาก หมายถึง –

(1) การดัดแปลงเสียงบางเสียงให้ฟังดูคล้ายภาษาบาลี และ

(2) การให้ความหมายคำบาลีบางคำ ๑) โดยเจตนาให้เป็นเรื่องขบขัน หรือ ๒) ด้วยความเข้าใจผิดจริงๆ เพราะไม่รู้

ตัวอย่างตามข้อ (1) เช่น –

– อะธิ จะ ตัง กะมิตัง จะ มาตัง นะธิกู จะ นัง = อันที่จะตั้งก็ไม่ตั้ง จะมาตั้ง ณ ที่กูจะนั่ง

– กิงกะโรมะ กูจะวินัง = กลิ้งกะโหลกมา กูจะวิดน้ำ (สองคนพายเรือรั่ว คนหนึ่งบอกให้อีกคนหนึ่งส่งกะลาที่อยู่ใกล้ตัวมาเพื่อจะวิดน้ำ)

ตัวอย่างตามข้อ (2) :

ตามข้อ ๑) เช่น –

สนฺโต (สันโต) แปลว่า ขวาน เพราะสันขวานโตมาก

ปาปํ (ปาปัง) แปลว่า สังกะสี เพราะถ้าเอาอะไรปาไปถูกสังกะสี จะดังปัง

สพฺพํ (สัพพัง) แปล จอบ เพราะเมื่อเอาจอบสับลงไปตรงไหน ตรงนั้นก็พัง

ตามข้อ ๒) เช่น –

อยมฺภทนฺตา (อะยัมภะทันตา) ให้ความหมายว่า ทำอะไรที่ไม่ดีไว้ก็ได้รับผลที่ไม่ดีติดตามมาทันตาเห็น คือจับเอาเสียง “ทันตา” มาจินตนาการ

อยมฺภทนฺตา” เป็นข้อความส่วนหนึ่งในบทชุมนุมเทวดา คำเต็มว่า “ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา” (ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา) แปลว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้เป็นเวลาที่ควรฟังธรรม ไม่เกี่ยวกับกรรมให้ผล “ทันตาเห็น” แต่อย่างใด

สุนกฺขตฺตํ (สุนักขัตตัง) ยกขึ้นมารับสมอ้างเมื่อกล่าวว่า คนเราควรมีความเมตตาต่อสุนัข ดังคำที่ว่า สุนักขัตตัง

สุนกฺขตฺตํ” แปลว่า ฤกษ์ดี ปรากฏในบทชัยมงคลคาถาว่า สุนกฺขตฺตํ  สุมงฺคลํ … ตามความหมายว่า เมื่อใดทำความดี เมื่อนั้นก็เป็นฤกษ์ดี มงคลดี … ไม่เกี่ยวกับเรื่องเมตตาต่อ “สุนัข” แต่อย่างใด

อภิปราย :

เหตุไรจึงเรียกคำบาลีลักษณะดังกล่าวมานี้ว่า “บาลีโคก” ยังไม่พบคำอธิบาย

แต่อาจกล่าวได้ว่า บาลีโคกเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของนักเรียนบาลี แต่เป็นบันเทิงที่มีขอบเขต คือรู้อยู่ว่าเป็นการเล่นสนุกเท่านั้น และไม่เอามาปนหรือเอามาใช้กับการแปลอย่างเป็นการเป็นงาน

ภาษาบาลีมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และต้องแปลตามกฎเกณฑ์นั้น ไม่ใช่แปลตามความเข้าใจเอาเอง หรือแปลเล่นๆ

: ภาษาบาลีมีลูกเล่น

: แต่บาลีไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

19-3-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย