บาลีวันละคำ

คำอาราธนาพระปริตร (บาลีวันละคำ 1,983)

คำอาราธนาพระปริตร

ในงานมงคลที่มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อนมัสการพระรัตนตรัยและรับศีลแล้ว ก่อนพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ พิธีกรจะกล่าวคำอาราธนาพระปริตร ดังนี้ –

(๑) เขียนแบบบาลี

วิปตฺติปฏิพาหาย

สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา

สพฺพทุกขวินาสาย

ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ.

วิปตฺติปฏิพาหาย

สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา

สพฺพภยวินาสาย

ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ.

วิปตฺติปฏิพาหาย

สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา

สพฺพโรควินาสาย

ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ.

(๒) เขียนแบบคำอ่าน

วิปัตติปะฏิพาหายะ

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะทุกขะวินาสายะ

ปะริตตัง พ๎รูถะ มังคะลัง.

วิปัตติปะฏิพาหายะ

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะภะยะวินาสายะ

ปะริตตัง พ๎รูถะ มังคะลัง.

วิปัตติปะฏิพาหายะ

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะโรคะวินาสายะ

ปะริตตัง พ๎รูถะ มังคะลัง.

(๓) คำแปล (ไม่ต้องว่า)

ขอท่านผู้เจริญจงสวดพระปริตรอันเป็นมงคล

เพื่อป้องกันความวิบัติ

เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง

เพื่อให้ทุกข์ทั้งปวงพินาศไป

…………………………….

…………………………….

…………………………….

เพื่อให้ภัยทั้งปวงพินาศไป

…………………………….

…………………………….

…………………………….

เพื่อให้โรคทั้งปวงพินาศไป

…………..

ข้อควรกำหนด-เคล็ดลับการจำ :

ข้อ ๑ “อาราธนาพระปริตร” อ่านว่า อา-ราด-ทะ-นา-พฺระ-ปะ-หฺริด

แม้พจนานุกรมฯ จะบอกว่า อ่านว่า — ปะ-ริด ก็ได้ ก็ช่างพจนานุกรมฯ เถิด คนเก่าท่านอ่านว่า — ปะ-หฺริด กันทั้งนั้น

ข้อ ๒ คำว่า วิปตฺติปฏิพาหาย (วิปัตติปะฏิพาหายะ) ผู้ไม่สันทัดบาลีมักสับสนว่าปนๆ กันไปว่า วิ-ปะ-ติ-ปะ-ติ หรือ วิ-ปัด-ติ-ปัด-ติ คือแยกไม่ได้ว่าคำไหน วิ-ปะ-ติ- คำไหน วิ-ปัด-ติ-

วิธีกำหนดแบบง่ายๆ คือ แยกคำเป็น “วิปตฺติ” คำหนึ่ง “ปฏิพาหาย” อีกคำหนึ่ง

คำแรก -ปัด-ติ-

คำหลัง -ปะ-ติ-

คำแรก -ปัด-ติ มาจากคำบาลีว่า “วิปตฺติ” (วิ-ปัด-ติ) (-ปัด ไม่ใช่ ปะ-) หรือที่ภาษาไทยใช้ว่า “วิบัติ” แปลว่า สถานะที่ผิด, การแสดงออกที่ผิด, ความไม่สำเร็จ, ความวิบัติ, เคราะห์ร้าย (wrong state, false manifestation, failure, misfortune)

คำหลัง -ปะ-ติ- มาจากคำบาลีว่า “ปฏิพาห” (ปะ-ติ-พา-หะ) (-ปะ ไม่ใช่ ปัด-) แปลว่า เครื่องแก้; การกีดกัน, การปัดป้อง, การป้องกัน (antidote; repelling, exclusion, warding off, prevention)

ปฏิพาห” แจกวิภัตติเป็น “ปฏิพาหาย” (ปะ-ติ-พา-หา-ยะ)

ข้อ ๓ คำว่า “พฺรูถ” (พ๎รูถะ) ออกเสียงว่า พฺรู-ถะ (พฺร- ควบ เหมือนคำว่า พรั่งพรู) ไม่ใช่ พะ-รู-ถะ และไม่ใช่ พู-ถะ

ข้อ ๔ คำอาราธนาว่า 3 เที่ยว เหมือนกันทั้ง 3 เที่ยว คำที่แตกต่างคือ –

เที่ยวที่ 1 “ทุกฺข” (ทุก-ขะ-) (สพฺพทุกขวินาสาย)

เที่ยวที่ 2 “ภย” (พะ-ยะ-) (สพฺพภยวินาสาย)

เที่ยวที่ 3 “โรค” (โร-คะ-) (สพฺพโรควินาสาย)

หรือกำหนดเป็นคำไทยว่า ทุกข์ภัยโรค

ข้อ ๕ คำอาราธนาพระปริตรท่านแต่งเป็นกลอน (บาลีเรียก “คาถา” หรือ “ฉันท์”) ชื่อปัฐยาวัตรฉันท์ กลอนชนิดนี้บังคับคำวรรคละ 8 พยางค์ (ลองนับดู) เพราะฉะนั้น จะอาราธนาเป็นทำนองสรภัญญะก็ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดีทำได้ทุกลมหายใจ

: ไม่ต้องรอให้ใครอาราธนา

#บาลีวันละคำ (1,983)

16-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย