สัจกิริยา (บาลีวันละคำ 2,142)
สัจกิริยา
อ่านว่า สัด-จะ-กิ-ริ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า สัจ + กิริยา
(๑) “สัจ”
บาลีเป็น “สจฺจ” (สัด-จะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ส (แทนศัพท์ว่า “สนฺต” = สัตบุรุษ, คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + จ ปัจจัย, แปลง ภู เป็น จ
: ส + ภู > จ = สจ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)
(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + จ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ส)-รฺ (สรฺ > ส), ซ้อน จฺ
: สรฺ > ส + จฺ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)
“สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)
“สจฺจ” ยังหมายถึง พระนิพพาน โดยนัยว่า เพราะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นเหตุสิ้นราคะ หรือเพราะนับเนื่องในสัจจะสี่
“สจฺจ” สันสกฤตเป็น “สตฺย” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.
(2) สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำศบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.
“สจฺจ” ในภาษาไทย นิยมตัด จ ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “สัจ” ถ้าใช้คำเดียวและอ่านว่า สัด-จะ เขียนเป็น “สัจจะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สัจ, สัจ-, สัจจะ : (คำนาม) ความจริง, ความจริงใจ, เช่น ทำงานร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน. (ป. สจฺจ; ส. สตฺย).
(2) สัตย-, สัตย์ : (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ.(คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง. (ส.; ป. สจฺจ).
ความหมายในภาษาไทย :
(ตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำ)
(๑) สัจจะ : มีความหมายหนักไปในทาง >
(1) ความจริง (the truth) ตรงข้ามกับความเท็จ
(2) จริงใจ, อย่างมีน้ำใสใจจริง (sincere, heartfelt) ตรงข้ามกับมารยา เสแสร้ง
(๒) สัตย์ : มีความหมายหนักไปในทาง >
(1) ตรง, โดยตรง; ตรงไปตรงมา (straight, direct; straightforward, honest, upright) ตรงข้ามกับมีลับลมคมใน มีเล่ห์เหลี่ยม
(2) ความซื่อตรง, ความซื่อสัตย์ (straightness, uprightness) ตรงข้ามกับทรยศคดโกง หักหลัง
(๒) “กิริยา”
รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย แปลง อ ที่ ก-(รฺ) เป็น อิ, ลง อิ อาคม ที่ ร, ลบ ณฺ ที่ ณฺย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กร > กิร + อิ = กิริ + ณฺย > ย = กิริย + อา = กิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ”
“กิริยา” ในบาลีมีความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป (action, performance, deed; the doing) (ดูเพิ่มเติมที่ : “กิริยา–กริยา” บาลีวันละคำ (396) 15-6-56) และ “กิริยามารยาท” บาลีวันละคำ (601) 7-1-57)
พึงระวัง : “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา” คนละความหมายกัน
“กิริยา” คือ action ทั่วไป
“กริยา” คือ verb ในไวยากรณ์
สจฺจ + กิริยา = สจฺจกิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำความสัตย์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สจฺจกิริยา” ว่า a solemn declaration, a declaration on oath (การประกาศอย่างจริงจัง, การสาบาน)
หนังสือ กามนิต (ฉบับภาษาอังกฤษชื่อ The Pilgrim KAMANITA) สำนวนแปลของ เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป บทที่ยี่สิบเจ็ด ชื่อบทว่า “สัจกิริยา” ฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า THE RITE OF TRUTH
อภิธานศัพท์ในหนังสือ กามนิต จัดทำโดยนายเจริญ อินทรเกษตร คำว่า “สัจกิริยา” บอกความหมายไว้ว่า การตั้งความสัจ, กระทำสัตยาธิษฐาน
บาลี “สจฺจกิริยา” ภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “สัจกิริยา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัจกิริยา : (คำนาม) การตั้งความสัตย์.”
ขยายความ :
“สัจกิริยา” หมายถึง การกระทำสัตยาธิษฐานโดยยกเอาความสัจจริงอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนได้ทำไว้หรือที่เกี่ยวกับตนเป็นต้นขึ้นมาอ้าง แล้วปรารถนาผลสำเร็จที่ต้องการ
หลักของ “สัจกิริยา” อยู่ที่เรื่องที่ยกขึ้นมาอ้างต้องเป็นความสัจจริงแท้ และผู้อ้างตั้งมั่นอยู่ในความสัจข้อนั้นจริงๆ
“สัจกิริยา” ที่เป็นที่รู้จักกันดีในพระพุทธศาสนาก็คือกรณีที่พระองคุลิมาลเถระซึ่งเคยฆ่าคนมาเป็นอันมาก แต่เมื่อบวชในพระพุทธศาสนาแล้วท่านไม่เคยฆ่าคนฆ่าสัตว์ใดๆ อีกเลย ท่านยกเอาความสัจจริงข้อนี้เป็นที่ตั้ง แล้วขอให้หญิงมีครรภ์คลอดได้โดยง่าย ปรากฏว่าผู้หญิงที่ท่านตั้งความปรารถนาเช่นนี้ให้ก็คลอดบุตรสะดวกดีทุกราย
คำตั้ง “สัจกิริยา” ของพระองคุลิมาลเถระว่าดังนี้ –
…………..
ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต
นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา
เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส.
ที่มา: อังคุลิมาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
พระไตรปิฎกเล่ม 13 ข้อ 531
คำแปล –
ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่อาตมาได้เกิดแล้วในอริยชาติ
มิได้รู้สึกเลยว่าจะจงใจปลงสัตว์เสียจากชีวิต
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ
ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีพระธรรมวินัย ไม่ใช่สมณะ
: ไม่มีสัจจะ ไม่ใช่คนจริง
#บาลีวันละคำ (2,142)
24-4-61