ประจิม – ปราจีน (บาลีวันละคำ 2,861)
ประจิม – ปราจีน
คล้ายกัน แต่ตรงกันข้าม
“ประจิม” อ่านว่า ปฺระ-จิม
“ปราจีน” อ่านว่า ปฺรา-จีน
(๑) “ประจิม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประจิม : (คำนาม) ทิศตะวันตก.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ประจิม” มาจากภาษาอะไร แต่ความหมายที่ว่า “ทิศตะวันตก” ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คำนี้เลือนมาจาก “ปศฺจิม” ในสันสกฤต
สันสกฤต “ปศฺจิม” บาลีเป็น “ปจฺฉิม” อ่านว่า ปัด-ฉิ-มะ รากศัพท์ประกอบด้วย ปจฺฉา (ภายหลัง) + อิม (อิ-มะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ (ปจฺฉ-)า (ปจฺฉา > ปจฺฉ)
: ปจฺฉา > ปจฺฉ + อิม = ปจฺฉิม แปลตามศัพท์ว่า “-ที่มีในภายหลัง”
“ปจฺฉิม” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง :
(1) หลังที่สุด, อยู่ข้างหลัง, หลัง, สุดท้าย, รั้งท้าย (hindmost, hind- , back- , last, latest)
(2) ทางตะวันตก (western)
(3) ต่ำที่สุด, เลวที่สุด (lowest, meanest)
บาลี “ปจฺฉิม” สันสกฤตเป็น “ปศฺจิม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปศฺจิม : (คำวิเศษณ์) ‘ปัศจิม,’ ฝ่ายตวันตก; เบื้องหลัง, ข้างหลังหรือภายหลัง; west, western; behind, after; – (คำนาม) ทิศของท้าววรุณ, ทิศตวันตก; the region of Varuṇa, the west.”
“ปจฺฉิม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัจฉิม” ถ้าใช้เดี่ยวๆ อ่านว่า ปัด-ฉิม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ปัด-ฉิม-มะ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัจฉิม, ปัจฉิม– : (คำวิเศษณ์) ตะวันตก; ภายหลัง, ทีหลัง, ข้างหลังสุด. (ป. ปจฺฉิม).”
และมีคำว่า “ปัจฉิมทิศ” หมายถึง ทิศตะวันตก
“ปศฺจิม” ในสันสกฤตนี่เองที่เราเอามาใช้เป็น “ประจิม” หมายถึง ทิศตะวันตก
(๒) “ปราจีน”
บาลีเป็น “ปาจีน” (ปา-จี-นะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อญฺจฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อีน ปัจจัย, ลบ ญฺ ที่ อญฺจฺ แล้วทีฆะ อะ ที่ อ-(จฺ) เป็น อา (อญฺจฺ > อจฺ > อาจ)
: ป + อญฺจฺ = ปญฺจฺ + อีน = ปญฺจีน > ปจีน > ปาจีน แปลตามศัพท์ว่า “ทิศเป็นที่ขึ้นไปทีแรกแห่งดวงอาทิตย์” “ทิศที่มาถึงก่อน”
“ปาจีน” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ตะวันออก คือหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ขึ้น (eastern i. e. facing the rising sun)
บาลี “ปาจีน” สันสกฤตเป็น “ปฺราจีน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺราจีน : (คำวิเศษณ์) ‘ปราจีน,’ ฝ่ายตวันออก; ก่อน; โบราณ, เก่า; อันวางหรือบ่ายสู่ทิศตวันออก; eastern; former; ancient, old; placed towards the east; – (คำนาม) รั้ว, กำแพง; ลดา, พฤกษ์; a fence, a wall; a plant.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “ปราจีน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปราจีน : (คำนาม) ทิศตะวันออก. (ส. ปฺราจีน; ป. ปาจีน).”
อภิปราย :
“ประจิม” มาจากสันสกฤต “ปศฺจิม” บาลี “ปจฺฉิม” หมายถึง ทิศตะวันตก
“ปราจีน” มาจากสันสกฤต “ปฺราจีน” บาลี “ปาจีน” หมายถึง ทิศตะวันออก
เราอาจจะคุ้นกับ “ประจิม” ที่หมายถึง ทิศตะวันตก แต่ไม่คุ้นกับ “ปราจีน” ที่หมายถึง ทิศตะวันออก
เมื่อเห็น “ปราจีน” อาจนึกว่าเป็นคำเดียวกับ “ประจิม” แล้วเลยเข้าใจไปว่า “ปราจีน” หมายถึง ทิศตะวันตก
หรือบางคนอาจจำปนๆ กันไป แล้วเข้าใจไปว่า “ปราจีน” กับ “ประจิม” มีความหมายเหมือนกัน ถ้าเป็น “ตะวันออก” ก็ตะวันออกทั้งคู่ เป็น “ตะวันตก” ก็ตะวันตกทั้งคู่
แต่-เชื่อหรือไม่ว่า ความเข้าใจผิดอาจนำเราไปถึงจุดหมายที่ถูกได้?
สมมุติว่า-เราอยู่ต่างประเทศ ต้องการจะไปเมืองเมืองหนึ่ง เมืองนี้อยู่ทางทิศตะวันตก แต่เราเข้าใจผิดว่าเมืองนี้อยู่ทางทิศตะวันออก นี่เป็นความเข้าใจผิดชั้นต้น
เราจึงไปที่ชุมทางรถไฟ ทีนี้เราเกิดจำคำบอกทิศผิด (เพราะเป็นภาษาต่างประเทศ) คือจำคำว่า “ตะวันออก” เป็น “ตะวันตก” จำ “ตะวันตก” เป็น “ตะวันออก”
เราก็จึงนั่งรถไฟขบวนที่ไปตะวันตกโดยเข้าใจผิดว่าเป็นขบวนที่ไปตะวันออก นี่เป็นความเข้าใจผิดซ้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
เมื่อรถไฟขบวนนั้นถึงปลายทาง-คือตะวันตก เราก็ไปถึงเมืองที่ต้องการได้ ทั้งๆ ที่เข้าใจผิด
เรื่องนี้คงจะสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า –
Sometimes the wrong train
will get you to the right station.
ที่มา: The Lunchbox : เมนูต้องมนต์รัก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รถไฟผิดขบวนอาจนำเราไปถึงปลายทางที่ดี
: แต่ปฏิบัติธรรมผิดวิธีไม่อาจนำไปถึงพระนฤพาน
#บาลีวันละคำ (2,861)
12-4-63