ประกาศผล (บาลีวันละคำ 1,396)
ประกาศผล
คำบาลีที่ใช้จนเป็นคำไทย
(๑) “ประกาศ”
บาลีเป็น “ปกาส” อ่านว่า ปะ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กาสฺ (ธาตุ = ส่องแสง, ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: ป + กาสฺ = ปกาสฺ + อ = ปกาส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่องสว่างทั่ว” “ผู้ส่งเสียงไปทั่ว”
“ปกาส” ในบาลีมักใช้ในความหมายว่า แสงสว่าง, ความสว่าง (light)
ถ้าใช้ในความหมายว่า การอธิบาย, การทำให้ทราบ, ข่าวสาร, หลักฐาน, การชี้แจง, การประกาศ, การเผยแพร่ (explaining, making known; information, evidence, explanation, publicity) บาลีนิยมใช้ในรูป “ปกาสน” (ปะ-กา-สะ-นะ) (ป + กาสฺ + ยุ > อน = ปกาสน)
ปกาส สันสกฤตเป็น “ปฺรกาศ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปฺรกาศ : (คำนาม) ‘ประกาศ,’ สูรยาตบะ, สูรยาโลก, แสงแดด; โศภา, ประภา; ความเบิกบาน, ความสร้าน, ความแสดงไข; หัวเราะ; ยิ้ม; ความเปิดเผยหรือแพร่หลาย; ธาตุสีขาวหรือธาตุหล่อระฆัง; sunshine; luster, light, expansion, diffusion, manifestation; a laugh; a smile; publicity; white or bellmetal.”
ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ประกาศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประกาศ : (คำกริยา) ป่าวร้อง, แจ้งให้ทราบ, เช่น ประกาศงานบุญงานกุศล. (คำนาม) ข้อความที่แจ้งให้ทราบทั่วกัน เช่น ประกาศของวัด ประกาศของบริษัท; ข้อความที่ทางราชการแจ้งให้ประชาชนทราบหรือวางแนวทางให้ปฏิบัติ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศกระทรวง ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี. (ส. ปฺรกาศ; ป. ปกาส).”
(๒) “ผล”
บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + อ ปัจจัย
: ผลฺ + อ = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร”
“ผล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)
(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)
(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)
ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (2)
ประกาศ + ผล = ประกาศผล เป็นการเรียงคำตามภาษาไทย คือ “ประกาศซึ่งผล” และเมื่อพูดว่า “ประกาศผล” ก็เข้าใจกันดีโดยไม่ต้องแปลเป็นไทย เพราะเราใช้จนกลายเป็นคำไทยไปแล้ว
: การสอบต้องรอประกาศผล
: แต่บาปบุญของแต่ละคน รู้ผลโดยไม่ต้องรอประกาศ
28-3-59