บาลีวันละคำ

กปิ – กระบี่ (บาลีวันละคำ 1,397)

กปิ > กระบี่

กลายรูปจนเกือบจำไม่ได้

กปิ” บาลีอ่านว่า กะ-ปิ รากศัพท์มาจาก –

(1) กปิ (ธาตุ = เคลื่อนไหว) + ปัจจัย : กปิ + = กปิ

(2) กปฺ (ธาตุ = เคลื่อนไหว) + อิ ปัจจัย : กปฺ + อิ = กปิ

กปิ” แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เคลื่อนไหวเรื่อย” หมายถึง ลิง (a monkey)

ในภาษาไทย “กปิ” กลายรูปเป็น “กระบี่” ซึ่งไปพ้องกับ “กระบี่” อีกความหมายหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กระบี่ ๑ : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) ลิง เช่น ขุนกระบี่มีกำลังโดดโลดโผน กระโจมโจนจับยักษ์หักแขนขา. (รามเกียรติ์ ร. ๒). (ป., ส. กปิ).

(2) กระบี่ ๒ : (คำนาม) อาวุธชนิดหนึ่ง ใบแบนยาว ปลายแหลม มีคมข้างหนึ่งหรือทั้ง ๒ ข้าง ด้ามสั้น ที่ด้ามถืออาจมีโกร่งหรือไม่มีก็ได้ มีฝัก.

พจน.54 บอกว่า “กระบี่” ที่หมายถึงลิง บาลีเป็น “กปิ” และสันสกฤตก็เป็น “กปิ” เหมือนกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กปิ : (คำนาม) ‘กระบี่,’ วานร, ลิง; หณุมาน; นามพระวิษณุหรือกฤษณะ; ธูป, สรรชรส; ศิลาชัน, ศิลากุสุม, กำยานไม่บริศุทธ์; an ape or monkey; the monkey Haṇumān; a title of Vishṇu or Krishṇa; incense; storax or impure benzoin.”

อภิปราย :

๑. พจน.54 ไม่ได้บอกว่า “กระบี่” ที่หมายถึงอาวุธชนิดหนึ่ง เป็นภาษาไทย หรือเราเอามาจากภาษาอะไร

คำแปลในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายที่จะส่อไปถึงอาวุธชนิดใดๆ ที่พอจะลากเข้าไปหา “กระบี่” ในภาษาไทยได้แต่ประการใด

๒. ในภาษาไทย ถ้าพูดถึง “กระบี่” ความหมายที่เด่นที่สุดคือ “อาวุธชนิดหนึ่ง” ส่วนที่หมายถึง “ลิง” นั้นต้องเป็นนักเลงหนังสือสักหน่อยจึงจะนึกออก

๓. พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เสนอความเห็นถึงที่มาของคำว่า “กปิ” (ลิง) ไว้ว่า original designation of a brownish colour, cp. kapila & kapota (การเรียกแต่เดิมเมื่อกล่าวถึงสีน้ำตาลอ่อน, เทียบ กปิล และ กโปต)

หมายความว่า ที่เรียกลิงว่า “กปิ” เพราะสัตว์ชนิดนี้ขนเป็นสีน้ำตาล

เทียบ “กปิล” และ “กโปต” –

กปิล” แปลว่า มีสีน้ำตาล ซึ่งคือสีของลิงธรรมดา

กโปต” แปลว่า นกพิราบ ซึ่งก็มีสีไปในแนวเดียวกันกับสีของลิงธรรมดา

๔. ในคัมภีร์ชาดกมีกล่าวถึงลิงไว้มาก ที่น่าสนใจเช่น “มหากปิชาดก” ในสัตตกนิบาต (สัด-ตะ-กะ-นิ-บาด)

มหากปิชาดก เป็นชาดกสั้นๆ กล่าวถึงลิงโพธิสัตว์ปกป้องชีวิตของบริวารด้วยวิธีการที่ชาญฉลาดและเสียสละอย่างสุดชีวิต

นักปกครอง ผู้นำมวลชน ผู้บริหารบ้านเมือง สมควรหามาอ่าน

: มิฉะนั้นจะเป็นนักบริหารที่อายลิง!

29-3-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย