บาลีวันละคำ

corruption (บาลีวันละคำ 1,400)

corruption

บาลีว่าอย่างไร

ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า corruption เป็นไทยว่า –

(1) การทุจริต

(2) การทุจริตในตำแหน่งหน้าที่

(3) การฉ้อราษฎร์บังหลวง

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล corruption เป็นไทยดังนี้ :

(1) เน่าเปื่อย, ทำให้เน่าเปื่อย

(2) นำไปในทางชั่ว, ไม่บริสุทธิ์, ทำให้เลวลง, ทำให้เขว

(3) คำแผลง, การแผลง, การเลียนแบบอย่างผิด ๆ

(4) ให้สินบน, กินสินบน, ทุจริต

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล corruption เป็นบาลีไว้ดังนี้ :

(1) dūsana ทูสน (ทู-สะ-นะ), padussana ปทุสฺสน (ปะ-ทุด-สะ-นะ), sampadussana สมฺปทุสฺสน (สำ-ปะ-ทุด-สะ-นะ) = การทำให้เสียหาย, การทำร้าย

(2) kalusīkaraṇa กลุสีกรณ (กะ-ลุ-สี-กะ-ระ-นะ) = การทำให้ขุ่นมัว, ทำไม่สะอาด

(3) kilissana กิลิสฺสน (กิ-ลิด-สะ-นะ) = ความเศร้าหมอง, ความสกปรก

(4) pūtibhāva ปูติภาว (ปู-ติ-พา-วะ) = ภาวะที่บูดเน่า, ความเน่าเสีย

(5) padosa ปโทส (ปะ-โท-สะ) = ความบกพร่อง, ความผิด, ข้อตำหนิ, ความเลวทราม, ความชั่ว

(6) vipallāsa วิปลฺลาส (วิ-ปัน-ลา-สะ) = ความวิปริต, ความผิดเพี้ยน, ความเสียหาย

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรม สอ เสถบุตร กับพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล corruption ในความหมายที่ใกล้เคียงกัน

แต่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลีไม่ได้แปล corruption ว่า ทุจฺจริต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุจฺจริต” ว่า bad action, wrong conduct (การทำชั่ว, ความประพฤติชั่ว) ไม่มีคำแปลว่า corruption

อภิปราย :

corruption (จากคำ corrupt) ใช้กับกรณีที่มีส่วนดีเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ต่อมาเกิดการเน่าเสียขึ้นในส่วนดีนั้น เช่นระบบราชการเป็นส่วนดี เมื่อมีการทุจริตโกงกินเกิดขึ้นในวงราชการ ก็เรียกว่า corruption

คนทุจริตรวมตัวกันเป็นซ่องโจร ประพฤติชั่วต่างๆ ความชั่วร้ายในซ่องโจรจัดว่าเป็น corruption หรือไม่?

……….

ดูก่อนภราดา!

: เพียงไม่เคยคิดจะทำความดี ชีพนี้ก็ว่างเปล่า

: ถ้ายังทำความชั่วซ้ำเข้าอีกเล่า ชีพนี้ก็เน่าไม่เหลือดี!

————–

(หยิบฉวยภาพโดยวิสาสะมาจากโพสต์ของท่าน Tongthong Chandransu)

1-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย