บาลีวันละคำ

ปรสิตวิทยา (บาลีวันละคำ 1,408)

ปรสิตวิทยา

อ่านว่า ปะ-ระ-สิด-ตะ-วิด-ทะ-ยา ก็ได้

อ่านว่า ปะ-ระ-สิด-วิด-ทะ-ยา (ไม่มี -ตะ- ระหว่าง สิต กับ วิท) ก็ได้

(ตาม พจน.54)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ปรสิต, ปรสิต– : (คำนาม) (คำที่ใช้ในแพทยศาสตร์) สัตว์พวกพยาธิที่อาศัยอยู่ในมนุษย์และสัตว์; (คำที่ใช้ในการเกษตรกรรม) ตัวเบียน เช่น กาฝาก. (อ. parasite).

(2) ปรสิตวิทยา : (คำที่ใช้ในแพทยศาสตร์) (คำนาม) วิชาที่ว่าด้วยพยาธิ.

สังเกตไว้ก่อน :

ที่คำว่า “ปรสิต” พจน.54 บอกว่า น. (แพทย์)

(ในที่นี้เขียนคำเต็มเพื่อไม่ให้สงสัยว่าย่อมาจากคำอะไร)

แต่ที่คำว่า “ปรสิตวิทยา” พจน.54 บอกว่า (แพทย์) น.

(โปรดดูภาพประกอบ)

พยายามอ่านคำชี้แจงใน พจน.54 แล้ว ยังไม่พบว่า การบอกคำสลับตำแหน่งกัน [น. (แพทย์) กับ (แพทย์) น.] เช่นนี้มีนัยสำคัญอย่างไร เป็นการเรียงตามใจชอบ หรือว่าไม่ลงรอยเดียวกันเพราะความพลั้งเผลอ

……..

ปรสิต” ตาม พจน.54 มาจากคำอังกฤษว่า parasite

ปรสิตวิทยา” ตามศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน เป็นศัพท์บัญญัติสาขาวิชาแพทยศาสตร์ จากคำอังกฤษว่า parasitology

มีคำถามว่า “ปรสิต” เป็นคำทับศัพท์จาก parasite ใช่หรือไม่

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีข้อมูลอยู่ในมือว่า พจน.54 เอาคำว่า “ปรสิต” มาจากภาษาอะไร แต่การที่มีวงเล็บคำอังกฤษ parasite ไว้ ย่อมชวนให้เข้าใจว่า “ปรสิต” ทับศัพท์มาจาก parasite เนื่องจากรูปคำตรงกัน

แต่คำว่า “ปรสิตวิทยา” ทำให้เข้าใจว่า “ปรสิต” เป็นบาลีสันสกฤต เพราะ “วิทยา” เป็นคำสันสกฤต และตามหลักการสร้างคำที่ถูกต้อง ท่านว่าไม่ควรเอาคำต่างภาษากันมาสมาสสนธิกัน เช่น computer science ไม่ควรบัญญัติศัพท์ว่า “คอมพิวเตอร์ศาสตร์” เพราะ “คอมพิวเตอร์” เป็นคำอังกฤษ ส่วน “ศาสตร์” เป็นคำสันสกฤต

ในที่นี้จึงสันนิษฐานว่า “ปรสิต” เป็นบาลีสันสกฤต

ปรสิตวิทยา ประกอบด้วย ปรสิต + วิทยา

(๑) ปรสิต แยกศัพท์เป็น ปร + สิต

1) “ปร” (ปะ-ระ) ในที่นี้แปลว่า อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)

2) “สิต” รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = อยู่, อาศัย) + ปัจจัย

: สิ + = สิต แปลตามศัพท์ว่า “อยู่อาศัยแล้ว” หมายถึง –

(1) ติดใน หรือติดอยู่กับ (stuck in or to)

(2) นอน, พัก, อาศัย, ยึด (reclining, resting, depending on, attached, clinging to)

ปร + สิต = ปรสิต (ปะ-ระ-สิ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “อาศัยอยู่กับสิ่งอื่น” หมายถึง พืชหรือสัตว์ที่เกิด เจริญเติบโต และอาศัยเกาะกินอยู่กับพืชอื่นหรือสัตว์อื่น ถ้าหลุดหรือถูกพรากพ้นออกจากพืชหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่นั้นก็จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล parasite เป็นไทยว่า –

1. ปรสิต คือ สัตว์หรือต้นไม้ที่อาศัยกินจากสัตว์หรือต้นไม้อื่น เช่น เห็ด รา กาฝาก เล็น ไร หมัด ไส้เดือน พยาธิ

2. ผู้ที่เกาะคนอื่นกิน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล parasite เป็นบาลีว่า –

(1) parapuṭṭha ปรปุฏฺฐ (ปะ-ระ-ปุด-ถะ) = สัตว์ที่สัตว์อื่นเลี้ยงดู

(2) parabhata ปรภต (ปะ-ระ-พะ-ตะ) = สัตว์ที่สัตว์อื่นเลี้ยงดู

(3) rukkhādanī รุกฺขาทนี (รุก-ขา-ทะ-นี) = พืชที่กินต้นไม้ > กาฝาก

(4) vandākā วนฺทากา (วัน-ทา-กา) = พืชที่คนยอมยกให้ว่ากำจัดยาก > กาฝาก

(๒) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

ปรสิต + วิทยา = ปรสิตวิทยา หมายถึง วิทยาการว่าด้วยสัตว์และพืชที่อาศัยเกิดและเกาะกินอยู่กับสัตว์อื่นพืชอื่น

ปรสิตวิทยา” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า parasitology

………

เป็นอันสรุปได้ว่า “ปรสิต” เป็นคำบาลีสันสกฤต

ที่ “ปรสิต” กับ parasite รูปคำตรงกัน ก็เพราะภาษาบาลีสันสกฤตกับภาษาอังกฤษเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน คือ Indo-European Language (ภาษาตระกูลอินเดีย-ยุโรป หรือ “แขกปนฝรั่ง”)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่ผู้บัญญัติศัพท์บัญญัติ parasite ว่า “ปรสิต” นั้น นับว่าเป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับบัญญัติ seminar ว่า “สัมมนา” นั่นแล

: ผู้ที่เกิดมาอาศัยโลก แล้วยังทำทุจริต

: คือผู้ที่กำลังเป็นปรสิตโดยไม่รู้ตัว

————

(หยิบฉวยคำมาจากโพสต์เมื่อ 7 เมษายน 2559 ของ Chachapon Jayaphorn

อันเนื่องมาจากอนิจกรรมของคุณลุง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจิตร ไชยพร

ผู้ก่อตั้งภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

และพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราช)

9-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย