บวชเณรภาคฤดูร้อน (บาลีวันละคำ 1,407)
บวชเณรภาคฤดูร้อน
เหมือนมีแต่ภาษาไทย
แต่ดูๆ ไป มีไทยคำเดียว
(๑) “บวช”
คำนี้ผู้รู้ลงมติว่า แปลงรูปมาจาก “ปวช” (ปะ-วะ-ชะ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
“บวช : การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง (ออกมาจากคำว่า ป + วช) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป”
“ป” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
“วชฺ” เป็นรากศัพท์ (ธาตุ) แปลว่า ไป, ถึง, เกิด, บรรลุ, แสวงหา, ปรุงแต่ง, กระทำ
มีธาตุอีกตัวหนึ่ง คือ “วชฺชฺ” (วัด-ชะ) แปลว่า “เว้น”
ในบาลีไม่มีศัพท์ว่า “ปวช” ส่วน ป + วชฺช รูปบาลีเป็น “ปพฺพชฺชา” (ปับ-พัด-ชา) แปลว่า การถือเพศเป็นนักพรต, การทรงเพศสมณะ, การสละชีวิตครองเรือนออกบวช ซึ่งเป็นความหมายของ “บวช” นั่นเอง
ป + วชฺช = ปพฺพชฺชา ใช้ในภาษาไทยว่า “บรรพชา” (ตาม พจน.54 อ่านว่า บัน-พะ-ชา ก็ได้ บับ-พะ-ชา ก็ได้)
ไทยเราแปลง วชฺช เป็น “วช” (ลบ ช เสียตัวหนึ่ง) จึงเท่ากับ ป + วช แล้วเขียนแบบไทยว่า “บวช”
(๒) “เณร”
ตัดมาจากคำเต็มว่า “สามเณร”
บาลีอ่านว่า สา-มะ-เน-ระ ไทยอ่านว่า สาม-มะ-เนน
“สามเณร” รากศัพท์มาจาก สมณ (สะ-มะ-นะ, = นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต) + เณร ปัจจัย, ลบ ณ (เณร > เอร), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ต้นศัพท์ คือ ส-(มณ) เป็น อา (สมณ > สามณ)
สูตรที่นักเรียนบาลีจำได้ติดปากคือ : สมณสฺส อปจฺจํ สามเณโร = เหล่ากอแห่งสมณะ ชื่อว่าสามเณร
: สมณ + เณร > เอร = สมเณร > สามเณร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสมณะ” หรือ “เหล่ากอแห่งสมณะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สามเณร : (คำนาม) ผู้ดํารงเพศอย่างภิกษุ แต่สมาทานศีล 10, เรียกสั้น ๆ ว่า เณร”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความว่า –
“สามเณร : บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบทคือศีล 10 และปฏิบัติกิจวัตรบางอย่างเหมือนภิกษุ ตามปกติมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์; พระราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา.”
(๓) “ภาค”
บาลีอ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”
(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”
(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค
: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”
“ภาค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)
(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)
(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)
(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)
ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วนของเวลา” ตามข้อ (4)
(๔) “ฤดู”
คำนี้เป็นรูปสันสกฤต ในบาลีเป็น “อุตุ” รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อุ
: อิ > อุ + ตุ = อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาที่เป็นไปประจำ”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อร เป็น อุ
: อรฺ > อุ + ตุ = อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาเป็นที่เป็นไปแห่งหิมะเป็นต้น”
“อุตุ” หมายถึง ฤดูกาล, เวลาที่ดีหรือเหมาะเจาะ (season, good or proper time)
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
(1) อุตุ ๑ : (คำนาม) ฤดู. (ป.; ส. ฤตุ)
(2) อุตุ ๒ : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) สบาย (ใช้แก่กริยานอน) เช่น นอนหลับอุตุ
บาลี “อุตุ” สันสกฤตเป็น “ฤตุ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ฤดู” (รึ-ดู)
พจน.54 บอกความหมายของ “ฤดู” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) ส่วนของปีซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก มักแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน หรือเป็น ๔ ช่วง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน ก็มี
(2) เวลาที่กําหนดสําหรับงานต่าง ๆ เช่น ฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูทอดกฐิน ฤดูถือบวช
(3) เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์
(4) คราว, สมัย, เช่น ฤดูนํ้าหลาก
……….
เป็นอันว่า “บวชเณรภาคฤดูร้อน” มีแต่คำว่า “ร้อน” คำเดียวที่เป็นคำไทย นอกนั้นเป็นบาลีสันสกฤต
คำที่หมายถึง “ฤดูร้อน” ภาษาบาลีใช้ว่า “คิมฺโหตุ” (คิม-โห-ตุ) ประกอบด้วย คิมฺห (คิม-หะ, = ร้อน) + อุตุ แผลง อุ เป็น ที่ อุ-(ตุ) โอ (อุตุ > โอตุ)
: คิมฺห + อุตุ = คิมฺหุตุ > คิมฺโหตุ แปลตรงตัวว่า “ฤดูร้อน”
อภิปราย :
๑. กิจกรรมบวชเณรภาคฤดูร้อนมีผู้คิดจัดขึ้นเพื่อให้เด็กชายใช้เวลาระหว่างโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อนให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมกิริยามารยาท ฝึกควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย โดยเฉพาะสิกขาบท 10 ข้อของสามเณร อันจะเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาชีวิตให้เจริญขึ้นอย่างถูกทาง
๒. ปัจจุบันมีเสียงบ่นกันว่า วัดต่างๆ ที่จัดกิจกรรมบวชเณรภาคฤดูร้อนหย่อนยานในการฝึกอบรมสามเณรลงไปเป็นอันมาก บางทีถึงกับปล่อยปละละเลยให้ทำอะไรๆ ได้อย่างเสรี โดยอ้างว่า “เณรก็คือเด็ก จะเอาอะไรกันนักหนา”
๓. ท่าทีเช่นนี้ย่อมทำให้คุณค่าแห่งเพศสามเณรอันเป็น “เหล่ากอของสมณะ” ตกต่ำและเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอาจถึงขั้นรู้สึกกันว่า บวชก็มีค่าเท่ากับไม่ได้บวช นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
เล็กๆ น้อยๆ >
: ฝึกเด็กให้เป็นสามเณร เป็นบุญเล็กๆ
: ปล่อยเณรให้เล่นเป็นเด็ก เป็นบาปน้อยๆ
8-4-59