บาลีวันละคำ

ภาชนะ (บาลีวันละคำ 1,410)

ภาชนะ

อ่านว่า พา-ชะ-นะ ก็ได้

อ่านว่า พาด-ชะ-นะ ก็ได้

(ตาม พจน.54)

ภาชนะ” บาลีเขียน “ภาชน” อ่านว่า พา-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(๑) ภชฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ยืดเสียง อะ ที่ -(ชฺ) เป็น อา (ภชฺ > ภาช)

: ภชฺ + ยุ > อน = ภชน > ภาชน แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาตั้งไว้” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง คือบรรจุลงไป ซึ่งอาหารเป็นต้น”

(๒) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แจก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ภาชฺ + ยุ > อน = ภาชน แปลตามศัพท์ว่า “การจำแนก” “การแบ่ง

ภาชน” ในภาษาบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) ชาม, ขัน, บาตร, ภาชนะ, จาน (a bowl, vessel, dish)

(2) ส่วนแบ่ง, การแบ่ง (division, dividing up)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า “ภาชนะ”ที่หมายถึงเครื่องใช้ใส่สิ่งของนั้นโดยปกติเป็นเครื่องปั้นดินเผา แต่ก็หมายรวมถึงที่เป็นโลหะชนิดอื่นๆ ด้วย

ว่าตามวิวัฒนาการ “ภาชนะ” ชิ้นแรกของมนุษย์น่าจะเป็นใบไม้ ต่อมาก็เป็นเปลือกแข็งของผลไม้บางชนิด แล้วจึงพัฒนามาเป็นดินเผา เป็นโลหะ เป็นพลาสติก และปัจจุบันเป็นวัตถุที่มีส่วนผสมแปลกๆ แตกต่างกันออกไป

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาชนะ : (คำนาม) เครื่องใช้จำพวกถ้วยโถโอชามหม้อไหเป็นต้น สําหรับใส่สิ่งของ. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า “ภาชนะ” ในภาษาไทยใช้ในความหมายเดียว คือเครื่องใช้สำหรับใส่สิ่งของ

พจน.54 บอกว่า “ภาชนะ” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ภาชน : (คำนาม) ‘ภาชนะ,’ หม้อ, ถ้วย, จาน, ฯลฯ; การแบ่ง; ภาค; บุทคลที่เหมาะ; a pot, a cup, a plate, &c.; sharing or dividing; a division; a fit person;- (คุณศัพท์) ฉลาด, สามารถ; clever, capable.”

เป็นอันได้ความรู้ว่า “ภาชน” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่าในภาษาไทยและในบาลี

บางท่านเห็นความหมายของ “ภาชน” ในบาลีและสันสกฤตแล้ว ใช้จินตนาการสรุปว่า คนฉลาดย่อมแบ่งโภชนะใส่จานชามได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น “ภาชนะ” จึงหมายถึงจานชาม หมายถึงการแบ่ง และหมายถึงคนฉลาด

: อาหารอันโอชะไม่จำเป็นต้องอยู่ในภาชนะที่สวยงาม

11-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย