องศา (บาลีวันละคำ 1,411)
องศา
อ่านว่า อง-สา
“องศา” บาลีเป็น “อํส” (อัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(๑) อนฺ (ธาตุ = มีชีวิตอยู่) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (อนฺ > อ + อํ = อํ)
: อนฺ > อ + อํ = อํ + ส = อํส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องดำรงชีวิต”
(๒) อมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (อมฺ > อ + อํ = อํ)
: อมฺ > อ + อํ = อํ + ส = อํส แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่เป็นไป” (2) “ส่วนที่เป็นไปตามปกติ”
“อํส” ในภาษาบาลีหมายถึง –
(1) บ่า (the shoulder)
(2) ส่วน, ข้าง (a part, side)
(3) จุด, มุม, ขอบ (point, corner, edge)
ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “อํศ” (-ศ ศ ศาลา) และ “อํส” (-ส ส เสือ) มีความหมายอย่างเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อํศ : (สกรรมกริยา; a transitive verb.) แยกหรือแบ่ง; to separate or divide;- (คำนาม) หุ้นส่วน, ภาค, บ่า; a share, a part, a shoulder.”
อํส, อํศ ในภาษาไทย:
“อํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อังสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อังส-, อังสะ : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ห้อยเฉวียงบ่าว่า ผ้าอังสะ; ส่วน, ภาค; ส่วนของมุม. (ป. อํส).”
“อํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อังสา” หมายถึง บ่า, ไหล่.
“อํศ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “องศา” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
(๑) หน่วยในการวัดขนาดของมุม โดยกําหนดให้มุมที่รองรับโค้ง ๑ ใน ๓๖๐ ส่วนของเส้นรอบวง มีขนาด ๑ องศา และ ๙๐ องศา เป็น ๑ มุมฉาก.
(๒) หน่วยในการวัดอุณหภูมิตามชนิดของเครื่องวัด.
(๓) (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ส่วนหนึ่งของจักรราศี คือ วงกลมในท้องฟ้า แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี และแบ่ง ๑ ราศีออกเป็น ๓๐ องศา ฉะนั้นวงกลมจึงเท่ากับ ๓๖๐ องศา.
ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “องศา” ความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะหมายถึง “หน่วยในการวัดอุณหภูมิ” เช่น วันนี้จังหวัดสุโขทัยร้อนถึง 40 องศา
: อย่าทำ พูด คิดสกปรก
: เพราะอุณหภูมิในนรกไม่มีตัวเลขพอที่จะนับองศา
12-4-59