สามิภักดิ์ – สวามิภักดิ์ (บาลีวันละคำ 1,416)
สามิภักดิ์ – สวามิภักดิ์
สามิภักดิ์ อ่านว่า สา-มิ-พัก ประกอบด้วย สามิ + ภักดิ์
สวามิภักดิ์ อ่านว่า สะ-หฺวา-มิ-พัก ประกอบด้วย สวามิ + ภักดิ์
(๑) “สามิ”
เป็นรูปคำบาลี รากศัพท์มาจาก ส (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อามิ ปัจจัย
: ส + อามิ = สามิ
มีสูตรกระจายคำเพื่อแสดงความหมาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”) ว่า
: สํ ธนํ อสฺสตฺถีติ สามิ = สะ คือทรัพย์ ของผู้นั้น มีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สามิ = ผู้มีทรัพย์
“สามิ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย (owner, ruler, lord, master)
(2) สามี (husband)
“สามิ” บาลีเป็น “สามี” อีกรูปหนึ่ง ความหมายเดียวกัน
สามิ > สามี สันสกฤตเป็น “สฺวามินฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺวามินฺ : (คำนาม) ‘สวามิน,’ เจ้าของ, คำว่า ‘สวามี, บดี, อธิการี, หรือสวามินี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; นาย, เจ้าหรือจ้าว, คำว่า ‘อธิภู, นายก, อธิป, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน ผัว, คำว่า ‘ภรฺตา, ปติ, สฺวามี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อธิราช, ราชันหรือราชา; อุปาธยาย, อาจารย์, ครูผู้สั่งสอนธรรมหรือเวท; พราหมณ์หรือบัณฑิตผู้คงแก่เรียน; การติเกย; พระวิษณุ; พระศิวะ; มุนิวัตสยายน; ครุฑ; an owner, proprietor, a master or mistress, &c.; a master or lord, &c.; a husband, a lover, &c.; a sovereign, a monarch; a spiritual preceptor, religious teacher; a learned Brāhmaṇ or Paṇḍit; Kartikeya; Vishṇu; Śiva; the Muni Vatsyāyana; Garuḍa.”
จะเห็นว่า “สฺวามิน” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “สามิ” หรือ “สามี” ในบาลี
(๒) “ภักดิ์”
บาลีเป็น “ภตฺติ” (พัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ภชฺ (ธาตุ = คบหา, รัก) + ติ ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: ภชฺ + ติ = ภชติ > ภตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การคบหาสมาคม” “ความรัก” หมายถึง ความจงรักภักดี, ความผูกพัน, ความรักอย่างสุดซึ้ง (devotion, attachment, fondness)
บาลี “ภตฺติ” สันสกฤตเป็น “ภกฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ภกฺติ : (คำนาม) ‘ภักติ,’ การบูชา; ศรัทธา, ความเชื่อ; ความภักดีต่อ; ภาค, ส่วน; worship; faith; belief; devotion or attachment to; part, portion.”
ภตฺติ > ภกฺติ ภาษาไทยมักใช้เป็น “ภักดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภักดี : (คำนาม) ความจงรัก, ความเลื่อมใสยิ่ง. (ส. ภกฺติ; ป. ภตฺติ).”
“ภักดี” เมื่อต้องการให้อ่านว่า “พัก” ในกรณีใช้ในคำประพันธ์หรือใช้เป็นชื่อเฉพาะ จึงสะกดเป็น “ภักดิ์”
สามิ + ภตฺติ = สามิภตฺติ > สามิภักดิ์ : สฺวามินฺ + ภกฺติ > สวามิภักดิ์
คำว่า “สามิภตฺติ” ในบาลี พบว่ามีใช้ในคัมภีร์มหาวังสะ และนำมาอ้างอิงในคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัยอีกด้วย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สามิภักดิ์ : (คำนาม) ความจงรักภักดีต่อเจ้านาย, การยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อํานาจ. (คำกริยา) จงรักภักดีเจ้านาย, ยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อำนาจ, สวามิภักดิ์. (ป. สามิ + ส. ภกฺติ; ส. สฺวามินฺ + ภกฺติ).
(2) สวามิภักดิ์ : (คำกริยา) ยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อํานาจ เช่น ข้าศึกเข้ามาสวามิภักดิ์, สามิภักดิ์ ก็ว่า. (ส. สฺวามินฺ + ภกฺติ ว่า ความซื่อตรงต่อเจ้า).
สังเกตพจนานุกรม :
๑. “สวามิภักดิ์” เป็นคำกริยาอย่างเดียว แต่ “สามิภักดิ์” เป็นทั้งคำกริยาและคำนาม
๒. ที่คำว่า “สวามิภักดิ์” บอกว่า “สามิภักดิ์ ก็ว่า” แต่ที่คำว่า “สามิภักดิ์” ไม่ได้บอกว่า “สวามิภักดิ์ ก็ว่า” หากแต่บอกว่า “สวามิภักดิ์” หมายความว่า “สามิภักดิ์” ก็คือ “สวามิภักดิ์”
๓. (ก) ทำไม “สวามิภักดิ์” เป็นคำกริยาอย่างเดียว แต่ “สามิภักดิ์” เป็นทั้งคำกริยาและคำนาม (ข) ในเมื่อที่คำว่า “สวามิภักดิ์” บอกว่า “สามิภักดิ์ ก็ว่า” ทำไมที่คำว่า“สามิภักดิ์” จึงไม่บอกว่า “สวามิภักดิ์ ก็ว่า”
ถ้าไม่เป็นเพราะพจนานุกรมไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบจึงไม่สอดคล้องเป็นรอยเดียวกัน ก็ต้องมีนัยพิเศษบางอย่างที่ควรแก่การศึกษาหาความรู้กันต่อไป
: ภักดีต่อธรรมคือความถูกต้อง
: บัณฑิตยกย่องยิ่งกว่าภักดีต่อนาย
17-4-59