บาลีวันละคำ

อาสันนกรรม (บาลีวันละคำ 1,424)

อาสันนกรรม

อ่านว่า อา-สัน-นะ-กำ

ประกอบด้วย อาสันน + กรรม

(๑) “อาสันน

บาลีเป็น “อาสนฺน” (อา-สัน-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + สทฺ (ธาตุ = อยู่, แผ่ไป) + ปัจจัย, แปลง เป็น นฺน, ลบ ทฺ ที่สุดธาตุ

กฎ : อา + สทฺ ทำให้ความหมายของ สทฺ ธาตุเบี่ยงเบนไป จากเดิมหมายถึง “อยู่” หรือ “แผ่ไป” กลายเป็น “ใกล้ชิด” ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรคเบียนธาตุ

: อา + สทฺ = อาสทฺ + = อาสทต (ลบที่สุดธาตุ) > อาสต (แปลง เป็น นฺน) > อาสนฺน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ตั้งอยู่ใกล้” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ใกล้ (near)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ด้วย เขียนเป็น “อาสันนะ” บอกไว้ว่า –

อาสันนะ : (คำวิเศษณ์) ใกล้, เกือบ. (ป., ส.).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาสนฺน : (คำวิเศษณ์) ใกล้; near, proximate;- (คำนาม) แดดตก; the setting sun.”

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กรรม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย –

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

อาสนฺน + กมฺม = อาสนฺนกมฺม > อาสันนกรรม

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษไว้ดังนี้ –

อาสันนกรรม (āsannakamma) : death-proximate kamma; a kamma done immediately before death; proximate kamma.”

อาสันนกรรม” แปลว่า กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย เป็นชื่อเรียกกรรมประเภทหนึ่งในจำนวน ๑๒ ประเภทที่จำแนกตามหลักเกณฑ์ของการให้ผล

อาสันนกรรม” หมายถึงกรรมที่ทำเมื่อใกล้จะตาย และเมื่อทำแล้วจิตหน่วงเหนี่ยวเป็นอารมณ์แล้วตายไป ท่านว่ากรรมนั้นจะให้ผลก่อน อุปมาเหมือนโคที่ยืนจ่ออยู่ที่ประตูคอก เมื่อประตูเปิดก็จะได้ออกก่อนโคตัวอื่น

คติที่นิยม “บอกทางพระอรหัง” ให้คนป่วยใกล้ตายก็มาจากหลักของอาสันนกรรมนี้เอง เพราะเมื่อดับจิตพร้อมหน่วงเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นอารมณ์ นั่นคือทำมโนกรรมอันเป็นกุศลก่อนตาย ก็จะอุบัติในสุคติภูมิ

อภิปราย :

ในภาษาไทยมีคำว่า “อาสัญ” (อา-สัน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสัญ : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) ความตาย. (คำที่ใช้ในวรรณกรรม) (คำกริยา) ตาย เช่น โทษลูกนี้ผิดเป็นนักหนา ดังแกล้งผลาญมารดาให้อาสัญ. (สังข์ทอง). (ป. อสญฺญ ว่า ไม่มีสัญญา).”

พจน.54 บอกว่า คำบาลี “อสญฺญ” (อะ-สัน-ยะ) แปลว่า ไม่มีสัญญา มีนัยว่า “อาสัญ” มาจาก “อสญฺญ

เป็นไปได้ไหมว่า คำว่า “อาสันนกรรม” นี่เองเราพูดตัดคำกร่อนลงไปเหลือเพียง “อาสัน” แล้วก็เขียนผิดเป็น “อาสัญ” อีกต่อหนึ่ง และจากความหมายเดิมของคำเต็มว่า “กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย” เราก็เลยใช้ในความหมายว่า “ตาย” คำเดียว

ดีไม่ดีคำว่า “อสัญกรรม” อาจเพี้ยนมาจาก “อาสันนกรรม” นี่ก็เป็นได้ด้วย

: ความตายไม่บอกล่วงหน้า

: อย่ารอให้ใกล้ป่าช้าจึงจะคิดทำบุญ

————

(สนองคำขอของ Koson Teenasuan)

25-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย